กว่า 7 ปีที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม บริหารประเทศสืบทอดอำนาจภายใต้ร่มเงาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยยกเหตุผลขึ้นมาเป็นข้ออ้างหลายเหตุผล โดยหนึ่งในจำนวนนั้น คือ สร้างความโปร่งใสแก้ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น หลังเข้ามาบริหารประเทศมีการออกมาตรการมากมายเพื่อสร้างความโปร่งใสให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ เปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงคุณธรรม หรือ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ทำให้ประชาชนมีความหวังว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นที่หวังนำพาประเทศชาติเจริญร่งเรือง ไร้ปัญหาการทุจริต ตรวจสอบได้
แต่เรื่องงบประมาณจัดซื้อของกองทัพ กลับไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ โดยรัฐบาลมักระบุเหตุผลว่าเป็น “เรื่องลับ” เพราะเกี่ยวข้องกับ “ความมั่นคง” ซึ่งการจัดสรรงบฯที่ผ่านมา สาธารณชนส่วนใหญ่มักจะได้รับข้อมูลแบบ “ลับ ลวง พราง”ผ่านการตรวจสอบของสื่อมวลชน ตลอดทั้งพรรคการเมืองจากฝ่ายตรงข้าม
จากการตรวจสอบมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน พบว่า ครม.ได้อนุมัติวาระงบซ่อนแร้น หมกเม็ด สอดไส้ หลากหลายโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้งบฯประจำปี แต่ไม่มีเกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเมื่อตรวจสอบย้อนไปถึงหน่วยงานต้นสังกัดในเหล่าทัพต่าง ๆ ซึ่งถูกบังคับตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 103/7 ให้ต้องเปิดเผย “ราคากลาง” โครงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดที่ใช้งบประมาณของแผ่นดิน ก็พบว่า มีการตั้งโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้งบประมาณสูงและน่าสนใจ 3 เหล่าทัพ ประกอบด้วย
กองทัพบก
ปี 2558 โครงการจัดซื้อรถถังหลัก VT-4 จากจีน ไม่ระบุจำนวน รวมมูลค่า 4,985 ล้านบาท
ปี 2559 โครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ Mi7VS จากรัสเซีย จำนวน 2 ลำ รวมมูลค่า 1,698 ล้านบาท
ปี 2559 โครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์จากรัสเซีย ไม่ระบุรุ่น จำนวน 4 ลำ รวมมูลค่า 3,385 ล้านบาท
ปี 2560 โครงการจัดซื้อรถถังหลัก VT-4 จากจีน ไม่ระบุจำนวน รวมมูลค่า 2,017 ล้านบาท
กองทัพเรือ
ปี 2558 โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ไม่ระบุรุ่นและจำนวน มูลค่า 2,850 ล้านบาท
ปี 2558 โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ไม่ระบุรุ่น จำนวน 4 ลำ รวมมูลค่า 490 ล้านบาท
ปี 2559 โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ไม่ระบุรุ่น จำนวน 5 ลำ รวมมูลค่า 627 ล้านบาท
ปี 2560 โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ S26T จากจีน จำนวน 1 ลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท
กองทัพอากาศ
ปี 2560 โครงการจัดซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่เบื้องต้นจากเกาหลีใต้ จำนวน 8 ลำ รวมมูลค่า 8,997 ล้านบาท
นี้คือข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของรัฐบาล ซึ่งบางโครงการจำเป็นจะต้องให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติ แต่ก็ยากที่จะตรวจสอบได้ว่ามีการอนุมัติไปแล้วหรือไม่ เนื่องจากใช้ “เอกสารลับ”ที่เต็มไปด้วยการสอดแทรก สอดไส้ งบฯลับ อีกมากมาย
จัดสรร 1.6 พันล้านให้กลาโหมสร้างสถานกักตัว
ยกตัวอย่างในการอภิปรายพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯปี2565 มาตรา 6 งบกลาง จำนวน 587,409 ล้านบาท เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ซึ่ง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และกมธ.งบฯได้ตั้งข้อสงสัยต่อรัฐบาลตั้งเงินสำรองจ่ายเพื่อฉุกเฉินและความจำเป็นจำนวน 8.9 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นงบฯมากเกินความจริง โดยเฉพาะงบกลางเพื่อใช้บรรเทาโควิดที่ไม่มีการอนุมัติโดยตรงจากครม.แต่ให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมอนุมัติเห็นชอบเพื่อสร้างสถานที่กักตัวของรัฐทั่วประเทศ จำนวน 1,613 ล้านบาท
เรื่องนี้ไม่น่าจะใช่ความเชี่ยวชาญของกระทรวงกลาโหม และยังมีโครงการที่ไม่เข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาโควิดหรือไม่อย่างไร เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันสู่โอลีโอเคมิคอล แบบครบวงจร จำนวน 22 ล้านบาท โครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมง แหล่งน้ำชุมชน สำนักงานประมง จ.นครราชสีมา 1,147 ล้านบาท ค่าทำพัฒนาเนินทรายงาม ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศตามเส้นทางท่องเที่ยว 19 ล้านบาท ฯลฯงบฯดังกล่าวจึงเกิดคำถามตามมามากมายว่าโครงการเหล่านี้เป็นการแก้ไขโควิดอย่างไร
กระจายงบซ่อนแร้นให้หลายหน่วยงาน
สอดคล้องกับการออกมาเปิดโปงของ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นว่าจากการตรวจสอบงบฯลับแต่ละหน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหมได้งบฯลับร่วม 500 ล้านบาท ไม่มีการชี้แจงรายละเอียดอะไรเลย เช่นเดียวกับ กองทัพบกได้งบฯ 290 ล้านบาท กองทัพเรือ 62 ล้านบาท กองทัพอากาศ 30 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 32 ล้านบาท กองบัญชาการกองทัพไทย 55 ล้านบาท
ซึ่งไม่เพียงแต่ทุกเหล่ากองทัพเท่านั้นยังมีงบฯลับซ่อนแร้นในอีกหลายหน่วยงานจำนวนมาก อาทิ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 558 ล้านบาท เป็นงบฯสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 60 ล้านบาท สำนักข่าวกรองแห่งชาติ 232 ล้านบาท สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) 50 ล้านบาท กระทรวงต่างประเทศ 8 ล้านบาท กระทรวงแรงงาน 5 ล้านบาท รวมแล้วกระทรวงกลาโหมกับสำนักนายกรัฐมนตรีมีงบฯลับมากกว่า 1,000 ล้านบาท
อนุมัติให้ทัพเรืออีกกว่า 500 ล้าน
และเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ครม.ก็ได้อนุมัติงบฯให้โครงการนำสายไฟลงใต้ดินเพื่อส่งเสริมสภาพพื้นที่สำหรับเมืองการบินภาคตะวันออก ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอวงเงินรวม 541.36 ล้านบาท โดยใช้งบฯจากงบฯกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน พ.ศ.2564 ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในช่วงสถานการณ์วิกฤติ อีกทั้งกองทัพเรือไม่มีความเชี่ยวชาญงานในด้านนี้
ทั้งนี้กองทัพเรือให้เหตุผลว่าที่ไม่สามารถเบิกจ่ายจากงบประมาณปกติได้ เนื่องจากรายการดังกล่าวนี้อยู่นอกแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ของกองทัพเรือ และไม่สามารถขอปรับวงเงินจากโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มาใช้ก่อนได้ จึงขอให้มีการสนับสนุนงบประมาณจากงบกลางฯปี 2564 เพื่อให้การดำเนินการในโครงการเมืองการบินภาคตะวันออกมีความสมบูรณ์สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ในระยะเวลาที่กำหนด
รายงานข่าวล่าสุด โครงการนำสายไฟฟ้าลงดินในพื้นที่เมืองการบิน 3 เส้นทาง ได้มีการสั่งการเร่งรัดขั้นตอนการจัดจ้างพิเศษแล้ว
ซึ่งงบกลางหรืองบฉุกเฉินดังกล่าวอยู่ภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรี ในปี 2564 ที่จัดสรรไว้สูงถึง 6 แสนล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อไว้ใช้ในกรณีที่วิกฤติฉุกเฉิน หรือ จำเป็นเท่านั้น เช่นกรณีสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดหนักอยู่ในปัจจุบันนี้ จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงการจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาลทำไมต้องเร่งรีบอนุมัติให้โครงการฯ
ขณะที่รัฐบาลออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า มีเงินหน้าตักใช้เพื่อแก้สถานการณ์โควิดไม่มากนัก จากการตรวจสอบ ณ สิ้น ก.ค.2564 งบฯกลางยังคงเหลืออยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาทเท่านั้น
เมื่อรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ถูกโยงการใช้ “งบราชการลับ”ที่มีวาระซ่อนเร้นทำให้เห็น รวมถึงการนำเอางบฉุกเฉินไปจัดสรรให้หลายหลาย ๆ หน่วยงาน ทำให้ภาคสังคมเกิดความสงสัยว่า “งบฯ”เหล่านี้ถูกนำไปใช้จ่ายตรงกับวัตถุประสงค์หรือไม่อย่างไร?