“จุรินทร์”รมว. ยังยืนเป้าส่งออกปีนี้ 4% แม้โควิดระบาดโรงงานกระทบการผลิต รัฐ-เอกชนเกาะติดผลกระทบเดือน ส.ค.-ก.ย. เร่งปรับแผนลดอุปสรรค
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง ภาวะการค้าระหว่างประเทศประจำเดือนก.ค. 2564ว่า การส่งออกเดือนกรกฎาคม 20.27% เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ด้วยมูลค่า 22,650.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยังเป็นตัวเลขสองหลัก หากไม่รวมยุทธปัจจัยทองคำ และน้ำมัน จะขยายตัว 25.38% โดยมูลค่าการค้ารวมคิดเป็น 708,651.66 ล้านบาท
ขณะที่ตัวเลขการส่งออกรวม 7 เดือน ขยายตัว 16.20% มูลค่า 4,726,197.35 ล้านบาท โดยในภาพรวมมีการขยายตัวต่อเนื่องซึ่งสินค้าที่ขยายตัวได้แก่ 1.ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 80.2% ถือว่าเป็นการขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่องและยังขยายตัวดีในตลาดสำคัญ เกือบทุกตลาด เช่น จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซียและเนเธอร์แลนด์ เป็น 37.1%
2.ยางพาราเดือนกรกฎาคม ขยายตัว 121.2% เป็นการขยายตัว 10 เดือนต่อเนื่อง 3.ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 62% ขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่องในตลาดสำคัญ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน สหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนขยายตัว 48.1% .อาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัว 17.3% 5.ไขมันและน้ำมัน จากพืชและสัตว์ กรกฎาคม 51.7% 6.ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ขยายตัว 8.4%
สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกไทย เนื่องจากเดินตาม แผนการทำงาน ระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของคู่ค้าสำคัญเช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป รวมทั้งจีนยังฟื้นตัวได้ดี ด้านค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงทำให้เราสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดโลกและราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในระดับสูง เมื่อน้ำมันดิบราคาสูงทำให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องเช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ส่งออกได้ราคาดีขึ้นด้วยทำให้ตัวเลขเป็นบวกขึ้น
อย่างไรก็ตามการระบาดโควิดอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในเดือนส.ค.-ก.ย.เป็นต้นไป ซึ่งตั้งแต่ปลายเดือนก.ค.เมื่อเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ล็อกดาวน์มีผลต่อภาคการผลิต เช่น ผลไม้หรือโรงงานที่ผลิตเพื่อการส่งออกบางแห่งต้องปิดตัวลง ทำให้ไม่สามารถผลิตได้ รวมทั้งสถานการณ์โควิดในประเทศเพื่อนบ้านและบางประเทศที่เราต้องส่งออกเริ่มมีการติดขัดในช่วงการข้ามแดน เช่น ด่านไทยไปลาวไปเวียดนามและไปจีนมีปัญหาบางช่วงบางเวลาต้องไปแก้ปัญหาหน้างานหลายครั้ง
รวมทั้งการส่งออกผลไม้และสินค้าบางประเภทหรือแม้แต่มาเลเซียเพื่อนบ้านติดโควิดและยังอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเคร่งครัดในการแก้ปัญหา ส่งผลกระทบต่อตัวเลขส่งออก
นายจุรินทร์ กล่าวถึงแนวโน้มและแผนส่งเสริมการส่งออกในครึ่งปีหลังว่า อาจต้องทบทวนแผนที่กำหนดไว้เพราะเนื่องจากสถานการณ์ล็อกดาวน์ในประเทศ และปัญหาโควิดในหลายประเทศที่เป็นคู่ค้ามีปัญหา โดยเป้าหมายการส่งออกปีนี้จะขยายตัว 4% ทางกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนจับมือกันเดินหน้าอยู่แล้ว ทุกวันนี้เราทำให้ดีที่สุด ตัวเลขเป้าเป็นแค่ตัวเลขไม่ต้องกังวลเรื่องนี้