Friday, 24 January 2025 - 3 : 38 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

เอกชนจี้รบ.เร่งขับเคลื่อน ‘Soft Power’กระตุ้นท่องเที่ยวทุกมิติ

14 กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวฯ ยื่นหนังสือหนุนรัฐบาลคลอดนโยบายเร่งด่วนขับเคลื่อน Soft Power กระตุ้นท่องเที่ยวไทยทุกมิติ มั่นใจช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจส่งท้ายปี ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคนเที่ยวไทยเข้าไทยปีหน้า สร้างเงินสะพัด 3.3 ล้านล้านบาท หนุนจ้างงานสร้างรายได้กว่า 4.56 ล้านคน วอนเร่งแก้ไขปลดล็อกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ โรงแรม ร้านอาหาร สถานบันเทิงนักร้องและนักแสดง รวม 14 กลุ่มองค์กร นำโดย นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย และนางสาวเขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลร่วมกันยื่นหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรื่อง “ข้อเสนอเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เติบโตครอบคลุมในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน” โดยมีนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองเป็นผู้รับหนังสือ

นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจ ถนนข้าวสาร กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว บริการ โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร และการบันเทิง 14 องค์กร และ 258 ร้านค้าสถานประกอบการมีความยินดีและพร้อมให้การสนับสนุนรัฐบาลที่มีนโยบายเร่งด่วนที่จะผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพื่อการกระตุ้นการฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยตั้งเป้าหมายด้านรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2567 ไว้ที่ 3.3 ล้านล้านบาทจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาวไทย 200 ล้านคน/ครั้งนั้น โดยจะมีการบูรณาการการขับเคลื่อนการฟื้นฟูและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งระบบและครอบคลุมในทุกมิติเพื่อการเติบโตเป็นฮับการท่องเที่ยวของโลกอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความสอดคล้องต่อบริบทที่หลากหลายของการท่องเที่ยวทั้งภาคกลางวันและภาคกลางคืน ตลอดจนธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องรวมถึงอาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ตาม ในการนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐจำเป็นต้องทบทวนการดำเนินงานเพื่อให้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ ในทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน เร่งเพิ่มขีดความสามารถและอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ ปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน และขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ประเทศไทย ซึ่งมีการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในสิบเอ็ดสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้ความร่วมมือกับภาคเอกชน

นายสง่า กล่าวว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการขับเคลื่อนการฟื้นฟูและการเจริญเติบโตเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน ดังนั้นจึงต้องเร่งผลักดันการขับเคลื่อน Soft Power ด้านการท่องเที่ยวอย่างเข้มข้น เพื่อนำประเทศไทยสู่การเป็นประเทศจุดหมายปลายด้านการท่องเที่ยวของโลกที่ได้รับความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ ความปลอดภัย ความหลากหลาย ความสะดวกสบาย ความคุ้มค่า สามารถตอบสนองและสร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่และกลุ่มที่มีคุณภาพและมีระดับการจับจ่ายใช้สอยสูง ทั้งที่มาเพื่อพักผ่อนหย่อนใจและกลุ่มไมซ์ให้กลับมาเยี่ยมเยือน อันจะส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวและการเติบโตไม่เฉพาะในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ แต่ยังครอบคลุมถึงภาคการผลิตและบริการต้นน้ำและปลายน้ำ ตลอดจนเศรษฐกิจและการจ้างงานของประเทศโดยรวม

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวกีฬา การจ้างงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีกว่า 4.56 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 11.50 ของการจ้างงานรวมของประเทศ เมื่อพิจารณารายได้จากการท่องเที่ยวปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด 19 มีมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านบาท หรือกว่าร้อยละ 18 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) นั้น พบว่าเป็นรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.91 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยว 39.9 ล้านคน โดย 5 ลำดับแรกของรายรับหรือค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านโรงแรมและที่พัก จำนวน 5.44 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28.5 ค่าใช้จ่ายด้านการซื้อสินค้าและของที่ระลึก จำนวน 4.64 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.3 ค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 4.04 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.2 ค่าใช้จ่ายในการเดินทางภายในประเทศ จำนวน 1.86 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.8 และค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง จำนวน 1.73 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.0 ซึ่งค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงยามค่ำคืนในสถานบันเทิง ผับ บาร์ (Night Entertainment) มีสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงทั้งหมด หรือคิดเป็นรายรับจำนวน 51.8 พันล้านบาท จะเห็นได้นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงความบันเทิงยามค่ำคืนสูงถึงกว่าหนึ่งในสี่ของค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย

“ในนามกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ โรงแรม ร้านอาหาร สถานบันเทิงนักร้องและนักแสดง ดังมีรายนามที่ปรากฏในหนังสือฉบับนี้ ใคร่ขอชื่นชมรัฐบาลที่มีความเข้าใจในความต้องการและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป และได้จัดทำแคมเปญ Amazing Thailand, Amazing New Chapters ซึ่งนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ด้านการท่องเที่ยววิถีปกติใหม่ ซึ่งมีความหลากหลาย ครอบคลุมในทุกมิติด้านการท่องเที่ยวและการบริการ ทั้งภาคกลางวันและยามค่ำคืนสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่และน่าประทับใจ สะดวกสบาย และปลอดภัย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มใหม่ กลุ่มที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูงให้เข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นและมีระยะเวลาการพำนักนานขึ้น” นางสาวเขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยกล่าว

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวฯ ดังกล่าวยังคงเผชิญกับปัญหา อุปสรรค และความไม่มั่นใจในการดำเนินธุรกิจสืบเนื่องจากมาตรการและกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติในปัจจุบันดังนั้น จึงขอให้รัฐบาลได้พิจารณาข้อเสนอเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและบริการ ให้สามารถขับเคลื่อนวิถีใหม่ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยพิจารณาปรับปรุงยกเลิกมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ล้าสมัยหรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบการ (กิโยตินกฎหมาย) โดยปรับปรุงกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลัง 24.00 น. และอนุญาตให้ร้านอาหารและเครื่องดื่ม สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สามารถขายและให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึงเวลา 2.00 น. ยกเลิกการกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างเวลา 14.00–17.00 น. กำหนดให้การขาย การให้บริการ และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานนานาชาติสามารถกระทำได้ตลอดเวลา ยกเลิกการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเชิงพื้นที่ (Zoning) ที่มีลักษณะเหมารวม และปรับปรุงมาตรการจำกัดการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความชัดเจน

นางสาวเขมิกา กล่าวเสนอด้วยว่าขอให้รัฐบาลกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยามค่ำคืนเพื่อเป็น “Soft Power” ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการสังสรรค์และความบันเทิงยามค่ำคืนและเป็นชาติผู้นำด้านการท่องเที่ยวที่ครบวงจรและปลอดภัยในระดับโลก ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร พื้นที่ถนนข้าวสาร ถนนสีลม (ซอยพัฒน์พงษ์ และซอยธนิยะ) ถนนรัชดาภิเษก ถนนสุขุมวิท (ซอยสุขุมวิท 11 ซอยคาวบอย ซอยนานา) 2.จังหวัดภูเก็ตพื้นที่ซอยบางลา 3.เมืองพัทยา 4.จังหวัดสุราษฎร์ธานีพื้นที่หาดเฉวง เกาะสมุย และหาดริ้น เกาะพะงัน 5.พังงาพื้นที่เขาหลัก 6.กระบี่พื้นที่อ่าวนาง 7.ประจวบคีรีขันธ์พื้นที่เมืองหัวหิน 8.จังหวัดสงขลาพื้นที่เมืองหาดใหญ่ เมืองสะเดา 9.จังหวัดเชียงใหม่พื้นที่ถนนนิมมานเหมินทร์ พร้อมปรับปรุงแก้ไขมาตรการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจสำหรับพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยามค่ำคืน ได้แก่ 1.อนุญาตให้สถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่พิเศษสามารถเปิดดำเนินการจนถึงเวลา 4.00 น. 2.กำหนดเวลาจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่พิเศษตั้งแต่เวลา 11.00 – 4.00 น. 3.พิจารณายกเลิกคำสั่งห้ามมิให้มีสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาหรือหอพักในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา 4.กำหนดมาตรการอำนวยความสะดวก และเฝ้าระวังความปลอดภัยเชิงรุก 5.บังคับใช้กฎหมายการห้ามมิให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์หรือผู้ที่ครองสติไม่อยู่ รวมถึงการห้ามการเมาแล้วขับอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันการดื่มสุราในกลุ่มเด็กและเยาวชนและปัญหาอุบัติเหตุจราจรจากการเมาแล้วขับ 6.ตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการและมาตรฐานความปลอดภัยของสถานประกอบการ มาตรฐานความปลอดภัยรอบพื้นที่พิเศษ รวมถึงการเป็นพื้นที่ปลอดยาเสพติดและอาวุธอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้กลุ่มตัวแทนดังกล่าวได้แนบเอกสารสำคัญ 3 เรื่องด้วยเพื่อประกอบการพิจารณา คือ 1. หนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร 0913/320 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2564 2. บันทึกคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สร้างสมดุลกับนโยบายอื่นของภาครัฐ (เรื่องเสร็จที่ 1673/2564) และ 3.รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการศึกษาวิเคราะห์ทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบข้อบังคับและกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการและการอนุญาตที่ไม่จำเป็นหรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน เล่มที่ 2 “เรื่อง ผลการทบทวน: ใบขออนุญาตขายสุรา ประเภทที่ 1 และใบขออนุญาตขายสุรา ประเภทที่ 2 และผลการทบทวน: การกำหนดวันและเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ของสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.)

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ โรงแรม ร้านอาหาร สถานบันเทิงนักร้องและนักแสดง 14 องค์กรดังกล่าว ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกอบการสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ, ชมรมสถานบันเทิงหาดป่าตอง, ไร่องุ่นมอนซูนแวลลีย์และมอนซูนแวลลีย์ ไวน์บาร์, สมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร, สมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหารกลางคืน, สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่, สมาคมบาร์เทนเดอร์ไทย, สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย, สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร, สมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสารสมาคมโรงแรมไทย, สมาคมสุราท้องถิ่นไทย, สมาคมอุตสาหกรรมบันเทิงและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา และสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทย

© 2021 thairemark.com