“พิมพ์ภัทรา”รมว.อุตสาหกรรม ลั่นเอาจริง! ออก 8 มาตรการปราบสินค้าออนไลน์ ไร้มาตรฐาน ภายใต้ภารกิจ “Quick Win” ให้หมดไปภายใน 6 เดือน
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2566 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังจากการลงพื้นที่ดูแลประชาชน และได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับเรื่องการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่มีมาตรฐานว่า จากประเด็นปัญหาดังกล่าวตนได้เร่งสั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้มงวดในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
“ปัญหานี้ ต้องกวาดล้างให้หมดไปจากท้องตลาดภายใน 6 เดือน ซึ่งอยู่ภายใต้ภารกิจ “Quick Win” จึงออก 8 มาตรการเร่งด่วน เพื่อกำกับดูแล ควบคุม และส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ถูกหลอกจากการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
นางสาวพิมพ์ภัทรา ย้ำว่า 8 มาตรการเร่งด่วน ได้แก่ 1.มาตรการ 3 ร. (เร่งตรวจ เร่งกำกับ เร่งปราบ) 2.มาตรการจับจริง-ปรับจริง 3. มาตรการเชื่อมโยงข้อมูล 4.มาตรการให้ความรู้ 5.มาตรการขยายผลอย่างยั่งยืน 6.มาตรการสร้างความตระหนัก 7.มาตรการใกล้ชิดประชาชน และ 8.มาตรการเพิ่มอาวุธ
“ทั้ง 8 มาตรการนี้ จะสามารถกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพที่จำหน่ายทางแพลตฟอร์มออนไลน์ให้หมดไปจากท้องตลาด” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว
ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ได้ลงพื้นที่ตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาด และทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปภายใน 6 เดือน รวมทั้งการออก 8 มาตรการเร่งด่วนนั้น เพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าวให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายตามนโยบาย
ทั้งนี้ 1. มาตรการ 3 ร. (เร่งตรวจ เร่งกำกับ เร่งปราบ) นั้น โดยทำการเพิ่มความถี่ในการตรวจสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ และนำข้อมูลที่ได้มาขยายผล เพื่อให้รู้ถึงพิกัดโกดังเก็บสินค้า พิกัดการโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ และให้ทราบถึงแหล่งที่มา ทั้งโรงงานที่ผลิตและช่องทางการนำเข้าของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิดอย่างสูงสุด
2.มาตรการจับจริง-ปรับจริง นั้น หากพบสินค้าไม่แสดงเครื่องหมาย มอก. สมอ. จะออกหนังสือแจ้งผู้ประกอบการให้มาให้ข้อมูลร้านค้า และรายละเอียดของสินค้า
“หากพบว่ามีความผิดจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”นายวันชัย กล่าว
3.มาตรการเชื่อมโยงข้อมูล โดยการชี้แจงให้ทุกแฟลตฟอร์มทราบมาตรการในการดำเนินคดีกับสินค้าที่มีการโฆษณาโดยไม่แสดงเครื่องหมาย มอก. และให้ทุกแพลตฟอร์มจัดทำระบบที่บังคับให้ผู้จำหน่ายสินค้าควบคุมต้องแสดง QR Code ข้อมูลใบอนุญาต และภาพในการโฆษณาต้องแสดงเครื่องหมาย มอก. ด้วย
4.มาตรการให้ความรู้ สมอ. จะเชิญร้านค้าออนไลน์ และแพลตฟอร์ม หารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการป้องกันการโฆษณา การจำหน่าย และการลักลอบขายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และให้ทราบถึงการกระทำความผิดฐานเป็นผู้ให้พื้นที่ในการโฆษณาและเป็นผู้มีส่วนได้ผลประโยชน์จากการขายสินค้าดังกล่าว
5.มาตรการขยายผลอย่างยั่งยืน โดย สมอ. จะขยายผลให้ทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเพื่อให้ควบคุมได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด และจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ประกอบการ หรือผู้เกี่ยวข้อง ที่แจ้งข้อมูลเท็จเกี่ยวกับแหล่งที่มาของสินค้า
6.มาตรการสร้างความตระหนัก โดยขอความร่วมมือแพลตฟอร์มให้แสดงอินโฟกราฟิกแจ้งเตือนผู้บริโภคให้รู้วิธีการสังเกตสินค้าที่มีมาตรฐานทุกครั้งที่มีการค้นหา Keyword (คีย์เวิร์ด) เช่น คำว่า “ปลั๊กพ่วง” “พาวเวอร์แบงค์” หรือ“หลอดไฟ” ฯลฯ
7.มาตรการใกล้ชิดประชาชน สมอ. จะทำคอนเท็นต์ออนไลน์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการเลือกซื้อสินค้าที่มีมาตรฐาน
และ 8. มาตรการเพิ่มอาวุธ มีการจัดตั้งทีมเฉพาะกิจศึกษาข้อกฎหมาย ข้อจำกัด และแนวทางการแก้ปัญหาในการลงโทษร้านค้าออนไลน์ที่กระทำความผิด รวมทั้งผู้มีส่วนได้ผลประโยชน์จากการขายสินค้าด้วย ทั้งนี้ เป็นการดำเนินงานภายใต้ภารกิจ “Quick Win” เพื่อกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปภายใน 6 เดือน