เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 3 สิงหาคม 2566 นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวต้อนรับ ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และผู้เข้าร่วมงานประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2566 – 2570 ณ ห้องประชุมแปซิฟิก โรงแรมเดอะไทด์ รีสอร์ท บางแสน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี
นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า จังหวัดชลบุรีร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จัดประชุมฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2566 – 2570 โดยมีกลุ่มเป้าหมายจากส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่จาก 3 จังหวัด EEC (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) กว่า 300 คน เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วม ในการจัดทำแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2566 – 2570 ให้แก่พื้นที่ EEC ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศและทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จากนั้นจะได้รวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะทั้งหมด มาปรับปรุงทบทวนแผนภาพรวมฯ EEC ในระยะที่ 2 ให้แล้วเสร็จฉบับสมบูรณ์ ก่อนที่จะนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณาเห็นชอบ และจะเสนอให้ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีชี กล่าวว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซี พ.ศ.2566-2570 ในครั้งนี้ ถือเป็นกาสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนต่อเนื่องจากที่ อีอีซี ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ในพื้นที่ส่วนกลางเมื่อกลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยจากนี้จะได้รวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะทั้งหมด มาปรับปรุงทบทวน แผนภาพรวมฯ อีอีซี ในระยะที่ 2 ซึ่งจะเป็นแผนหลักเพื่อการพัฒนาพื้นที่อีอีซีอย่างยั่งยืน เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม เป้าหมายที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การให้บริการภาครัฐแบบ ครบวงจร ลดอุปสรรคและต้นทุนในการประกอบกิจการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพต่อเนื่อง เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบโดยสมบูรณ์ พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย สะดวก ปลอดภัย ยกระดับ คุณภาพชีวิตของประชาชน
สำหรับกรอบแนวทางการพัฒนาพื้นที่ ตามแผนภาพรวม ๆ อีอีซี ประกอบด้วยแนวทาง 5 ด้าน ได้แก่
1) ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
2) เพิ่มประสิทธิภาพ และการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค
3) ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดำเนินการ ขยายผลต่อยอดพัฒนาทักษะบุคลากรและการศึกษาในพื้นที่อีอีซี
4) พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ ดำเนินการ พัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะให้เอื้อต่อการขยายตัวเศรษฐกิจและสังคมและ
5) เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน ดำเนินการ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ ส่งเสริมการพัฒนาทักษะอาชีพ ยกระดับด้านสาธารณสุข