Sunday, 5 January 2025 - 3 : 12 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

สสว.- วว. เข้าเยี่ยมคารวะ เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ และคณะพร้อมหารือแนวทางสนับสนุน SME ไทย

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ผนึกพลังสร้างสัมพันธ์เครือข่ายนานาชาติ หนุนเสริม SME ไทย นำคณะเข้าเยี่ยมคารวะ เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ พร้อมหารือแนวทางการดำเนินงานระหว่างกันในอนาคต นำสู่การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME ไทยต่อไป

คณะเดินทางจากประเทศไทย ประกอบด้วย รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงาน และนายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) ร่วมด้วยศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ และ ดร.โสภาพรรณ สัญญาณเสนาะ ผู้อำนวยการกองพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยได้รับเกียรติจาก นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์/หัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป พร้อมด้วย นายพรเทพ ศรีธนาธร อัครราชทูต (ฝ่ายการเกษตร) นายสมเกียรติ กมลพันธ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) และนางสาวพัชรมณฑ์ ศิริวัฒนา อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายสหภาพยุโรป) ให้การต้อนรับ

นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ กล่าวต้อนรับคณะผู้บริหารสสว. และวว. ว่า รู้สึกยินดีที่คณะฯ ได้เดินทางมาแลกเปลี่ยนข้อมูล นโยบาย และแนวทางการส่งเสริม ผู้ประกอบการไทย ทางสถานทูตฯ พร้อมจะให้ความสนับสนุน เพื่อการพัฒนา SME ไทยต่อไปในอนาคต

ด้าน รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ได้นำเสนอประเด็นการหารือ โดยเริ่มเล่าถึงเอสเอ็มอีไทยว่า “ขณะนี้เรามีผู้ขึ้นทะเบียนกับ สสว.จำนวน 3 ล้านราย และรายงานสถานการณ์การส่งออกของผู้ประกอบการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการผ่านโบรกเกอร์ จึงต้องการขยายฐานการส่งออกให้กว้างขึ้น ทั้งในด้านนโยบาย การเชื่อมต่อกับต่างประเทศ ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ เพื่อศึกษาโครงสร้างในการขับเคลื่อนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และการเชื่อมสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกับหน่วยงานในต่างประเทศโดยตรง เนื่องเพราะปัจจุบันสสว. ยังไม่มีการเชื่อมประสานโครงการกับทางยุโรปโดยตรง แต่เป็นการดำเนินงานผ่าน OECD”

ผอ.สสว. กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา การทำงานในระดับอาเซียน สืบเนื่องจากอียูได้ยกระดับความร่วมมือเป็น strategic partnership ทำให้อียูมีนโยบายที่จะให้การความสำคัญกับกลุ่มประเทศในอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง supply chain disruption ซึ่งประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่ง คาดว่าจะมีโอกาสในการสร้างความร่วมมือเพิ่มขึ้น ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ การค้า และ FTA ส่วนการเจรจาด้าน Government Procurement (GTO) กับทาง EU ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น เชื่อว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการได้เพิ่มขึ้น

ในที่ประชุมชี้ให้เห็นว่า ยุโรปเน้นการสร้างความเข้มแข็งภายในกลุ่มประเทศของอียู 27 ประเทศ ทำให้พยายามสร้างความสามารถทางการแข็งขันให้เทียบเท่าสหรัฐฯ จึงเกิดเป็น Green Deal ขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและจัดซื้อ โดยเน้นที่ People และ Climate Change ส่วน SDG Goal (การพัฒนาอย่างยั่งยืน) ของทางยุโรป ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถือเป็นกลไกที่สำคัญ อันสอดคล้องกับแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของไทย ในขณะที่ BCG ของไทยก็สอดคล้องกับ Green Deal ของทาง EU เช่นกัน

จากนั้น ได้มีการหารือกันถึงโครงการและความร่วมมือต่างๆ ระหว่างอียูและอาเซียน โดย ยกตัวอย่าง Green Deal ซึ่งเป็นโครงการที่ EU ได้จัดทำเป็นมาตรฐาน ที่ผู้ประกอบการต้องการส่งออกไปยุโรปต้องดำเนินการ ขณะที่ Global Gateway เป็นโครงการที่จะดำเนินการกับอาเซียนในเรื่องการ Digital Transform โดย EU ได้ประกาศให้ทุนสนับสนุนประเด็นดังกล่าวกับประเทศที่สนใจ ซึ่งในประเทศไทยกำลังศึกษาในกรอบของ Legal Framework และศึกษาเกี่ยวกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของยุโรป

ในประเด็นด้านการส่งเสริม SMEs พิจารณาได้เป็น 2 ส่วน คือ ตามโครงสร้าง GDP ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญจะเป็นสินค้าแปรรูปเกษตร เป็นส่วนใหญ่ ตามนโยบายรัฐเกี่ยวกับ S-Curve ซึ่งปัจจุบัน ที่สสว. ดำเนินการอยู่ จะเป็นอุตสาหกรรมการบิน หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยอุตสาหกรรมการบินของไทยได้แก่ 1.บริการภาคพื้น ผู้ประกอบการเรามีศักยภาพ โดยมุ่งเน้นเรื่องมาตรฐานที่สอดคล้องกับ international standard 2.ชิ้นส่วนอากาศยาน สสว.ถือหุ้นใน บริษัท อุตสาหกรรมการบิน ดำเนินงานด้านชิ้นส่วนเฮลิคอปเตอร์ ถึงแม้ว่าจะเป็นความท้าทายในการพัฒนา แต่ก็มีโอกาสสูง เมื่อพิจารณาจากจำนวนเฮลิคอปเตอร์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งในอุตสาหกรรมนี้ ประเทศไทยทำอยู่ในรูปแบบ OEM หากสามารถเป็น Strategic partner ใน supply chain ได้ จะเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการมากขึ้นได้

นอกจากนี้ ในที่ประชุม ยังมีการหารือหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ และพร้อมให้ความสนับสนุน ผู้ประกอบการไทย ทั้งยังแนะนำเพิ่มเติมถึงประเทศเยอรมนี นับเป็นอีกหนึ่งตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม สถานทูตฯ พร้อมจะช่วยประสานเกี่ยวกับหน่วยงานเอ็สเอ็มอีของยุโรป เพื่อการสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยต่อไป

© 2021 thairemark.com