Sunday, 22 December 2024 - 12 : 23 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

เลิกกลัวโควิด!คนไทยลุยเลี้ยงสังสรรค์-ทำบุญดันยอดใช้จ่ายพุ่งแสนล้านช่วงเทศกาลปีใหม่

ม.หอการค้าไทย เผย ปีใหม่ 2566 สุดคึก หลังคนเมินโควิดหันใช้จ่ายกระฉูด ดันยอดใช้จ่ายอยู่ที่กว่า 1 แสนล้านบาท สูงสุดรอบ 3 ปี โต 20% สูงสุด 17 ปี ของขวัญจากรัฐบาลที่อยากได้มากสุด คือ ปราบทุจริต กระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว ใช้คะแนนรัฐ 6.2 เต็ม 10 ส่วนขึ้นค่าไฟ เอกชนแบกรับได้ไม่เกิน 3 เดือน

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำของสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจการใช้จ่ายผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า ส่วนใหญ่มากถึง 90.8% ตอบว่า บรรยากาศคึกคักพอๆกับปีที่แล้วถึงคึกคักมากกว่า โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่าย 103,039 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.1% จากปี 65 ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่เกิน 100,000 ล้านบาทในรอบ 3 ปี และสูงสุดในรอบ 3 ปีนับจากปี 64 แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดที่มียอดใช้จ่าย 135,279 ล้านบาทในปี 62 และ 137,809 ล้านบาทในปี 63 ส่วนอัตราการขยายตัวที่ 20.1% สูงสุดในรอบ 17 ปีนับจากเริ่มมีการสำรวจปี 50 โดยแบ่งเป็นใช้เลี้ยงสังสรรค์ 11,732.54 ล้านบาท ทำบุญ 8,266.84 ล้านบาท ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 18,943.80 ล้านบาท ซื้อสินค้าคงทน 2,096.28 ล้านบาท ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย 1,562.20 ล้านบาท ท่องเที่ยวในประเทศ 57,491.80 ล้านบาท และท่องเที่ยวต่างประเทศ 2,945.66 ล้านบาท

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำของสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

“จากผลสำรวจ โควิดไม่มีผลกระทบแล้ว เพราะผู้ตอบมากถึง 80.4% บอกว่าไม่มีผลกระทบต่อการใช้จ่าย จึงเห็นภาพการออกนอกพื้นที่ท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งกลับบ้าน ส่งผลให้มีการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาจากปีก่อน โดยการใช้จ่ายท่องเที่ยวในประเทศอยู่ที่ 10,262 ล้านบาท จากปี 65 อยู่ที่ 5,445.28 ล้านบาท และเที่ยวต่างประเทศ 27,168.75 ล้านบาท เพิ่มจาก 21,508.32 ล้านบาท”นางเสาวณีย์ กล่าว

เมื่อถามว่า ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและปัญหาหนี้สินมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายช่วงปีใหม่มากน้อยเพียงใด ในส่วนภาวะเศรษฐกิจ ผู้ตอบ 54.4% ตอบมีผล อีก 45.6% ตอบไม่มีผล ส่วนหนี้สินผู้ตอบ 55.6% ตอบมีผล และอีก 44.4% ตอบไม่มีผล ส่วนแหล่งที่มาของเงินใช้จ่าย ส่วนใหญ่มาจากเงินเดือน/รายได้ปกติ ตามด้วยเงินออม, เงินช่วยเหลือจากรัฐ เช่น เที่ยวด้วยกัน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, โบนัส/รายได้พิเศษ และอื่นๆ เช่น ถูกรางวัล เสี่ยงโชค ขณะที่ของขวัญที่ต้องการจากรัฐมากที่สุด คือ ปฏิรูปภาครัฐ ปราบทุจริต รัฐบาลควรโปร่งใสตรวจสอบได้ ตามด้วยมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ, ลดภาระค่าครองชีพ เช่น ค่าน้ำค่าไฟ ค่าน้ำมัน เพิ่มจ้างงาน ค่าแรง, ลดภาษี

“สิ่งที่อยากได้มากอันดับ 1 คือ การปราบทุจริต แสดงให้เห็นว่าประชาชน ได้ยิน ได้เห็น หรือสัมผัสได้ถึงการทุจริต ในปี 66 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ จึงกลับมาสำรวจสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศอีกครั้ง หลังจากหยุดไปนานหลายปี ส่วนการให้คะแนนการแก้ไขของรัฐบาลในรอบปีที่ผ่านมา ภาพรวมอยู่ที่ 6.2 คะแนนจากเต็ม 10”

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า บรรยากาศปีใหม่ปี 66 คึกคัก และสดใสทั่วไทย โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ไตรมาส 1 จะสดใสมากขึ้น จากผลของมาตรการช้อปดีมีคืนที่ภาครัฐคาดจะมีคนใช้จ่าย 60,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินจากมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวอีกราว 4,000 ล้านบาท จะทำให้มีเงินสะพัดในภาคท่องเที่ยวอีก 10,000-20,000 ล้านบาท น่าจะทำให้ไตรมาส 1 ปี 66 มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท มีผลทำให้เศรษฐกิจโตได้อีก 0.7-1.0% มาอยู่ที่ขยายตัว 3.5% เป็นอย่างน้อย

สำหรับการขึ้นค่าไฟฟ้าในช่วงปีใหม่นั้น การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอีกราว 20% จากหน่วยละ 4 บาทกว่ามาเป็น 6 บาทกว่า จะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะขนาดเล็ก ทำให้ผู้ประกอบการ มี 2 ทางเลือก คือ ขึ้นราคาสินค้า และทำให้เงินเฟ้อขยับสูงขึ้น หรือถ้าไม่ขึ้นราคาสินค้า สภาพคล่องจะน้อยลงเกิดหนี้เสีย และลดการจ้างงาน ดังนั้น ราคาพลังงานยังเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องประคับ ประคองในช่วงไตรมาสแรก “ขึ้นค่าไฟฟ้า ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เชื่อว่าภาคธุรกิจแบกรับไม่ได้ หรืออาจแบกรับได้อีกเพียง 1-3 เดือนเท่านั้น”

© 2021 thairemark.com