Sunday, 6 October 2024 - 8 : 04 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

หมูเถื่อนไม่มี แต่ราคาไม่มา คดีไม่คืบหน้า

นับเป็นข่าวดีของเกษตรกรเลี้ยงหมูที่สัปดาห์ก่อน นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เอ่ยปากด้วยความเป็นห่วงราคาหมูในประเทศที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะขยับขึ้นถึงจุดคุ้มทุนเสีย ทั้งที่ “หมูเถื่อน” ถูกปราบปรามลดลงและไม่มีใครกล้านำเข้ามาใหม่ พร้อมสั่งการตรงกับ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระเกษตรและสหกรณ์ ให้ตรวจสอบและหาแนวทางการในการกำหนดราคาที่เป็นธรรมกับผู้เลี้ยงหมูมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ ร้อยเอกธรรมนัส ยืนยันว่า กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีการปราบปรามหมูเถื่อนมาโดยตลอด จนสถานการณ์เบาลง เไม่มีผู้ประกอบการรายใดนำเข้ามา มีแต่รายย่อยตามตะเข็บชายแดนเพื่อนบ้าน ส่วนรายใหญ่ๆ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กำลังดำเนินคดีเรื่องการฟอกเงินและมีการยึดทรัพย์ไปบ้างแล้ว ส่วนรายย่อยถูกจับกุมและอยู่ระหว่างดำเนินคดีเกือบ 300 คดี ซึ่งเป็นการขยายผลมาจากการจับกุมรายใหญ่

เห็นท่านนายกฯ ยังไม่ลืมความทุกข์ร้อนของผู้เลี้ยงหมูแบบนี้ ทั้งยังสั่งการให้หาวิธีที่จะทำให้ราคาเป็นธรรมแล้ว ผู้เลี้ยงหมูคงได้แต่ขอบคุณ และหวังว่าราคาหมูจะปรับขึ้นได้ตามกลไกตลาด สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของเกษตรกรในเร็ววัน เพราะทุกวันนี้ยังมีภาระขาดทุนสะสมที่ต้องรับผิดชอบ ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นต่อเนื่องทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ พลังงาน และปัจจัยการป้องกันโรค ที่ยังรอการพิจารณาของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาและลดอุปสรรค ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเลี้ยงหมูของไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ และสามารถส่งออกเนื้อหมูเพื่อเพิ่มมูลค่านำเงินตราเข้าประเทศในระยะยาว

อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เลี้ยงหมูอยากขอให้ท่านนายกฯ ช่วยติดตามและสั่งการเร่งด่วนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) คือ ให้เร่งเอาผิดกับผู้ลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนโดยเร็ว เนื่องจากคดียืดเยื้อมานานเกือบ 2 ปี อีกทั้งคดีใหญ่ๆ ยังไม่มีความคืบหน้า และยังใช้แนวทาง “คดีนอกราชอาณาจักร” มาใช้ในการสอบสวน ยิ่งทำให้ขั้นตอนการดำเนินคดีล่าช้าออกไปอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี ถึงตอนนั้นจะเป็นการยากที่จะกลับมาหา หลักฐาน หรือ สอบพยานเพิ่มเติมได้ ที่สำคัญหากคดีความหมดอายุ ผู้กระทำผิดไม่เพียงหลุดคดี อาจฟ้องกลับหน่วยงานภาครัฐได้ ถึงวันนั้น สิ่งที่สอบสวนและดำเนินคดีมาทั้งหมด จะเสียเปล่าและใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินโดยได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า เกิดความเสียหายแทน

นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงหมู ยังต้องการให้ภาครัฐมีการตรวจสอบและกวาดล้างหมูเถื่อนให้แน่ใจว่าหมดสิ้นแล้วจริงๆ โดยเฉพาะท่าเรือและโรงงานแปรรูปขนาดเล็ก ที่อาจจะยังใช้หมูเถื่อนเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพราะหมูเถื่อนเป็นตัวแปรสำคัญที่ให้เกิดปัญหาเนื้อหมูล้นตลาด (over supply) และฉุดราคาหมูไทยให้ตกต่ำ จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบด้าน ทั้งการดำเนินคดกับบริษัทนำเข้า นายทุน นักการเมืองและข้าราชการ ที่ร่วมขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนให้ถึงที่สุด

จากปี 2565 ถึงปัจจุบัน คดีหมูเถื่อนที่แยกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1. หมูเถื่อนภายใต้การดำเนินคดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว 3 คดี 2. หมูเถื่อนตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ พบผู้กระทำผิดเป็นบริษัทนำเข้าและชิปปิ้ง โดย DSI ส่งสำนวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 3. หมูเถื่อน 2,385 ใบขน ซึ่งเป็นการขยายผลการจับกุมจากคดีที่ 2 และจะใช้แนวทางคดีนอกราชอาณาจักร เพื่อสอบสวนเพิ่มเติมที่ประเทศต้นทางนำเข้า 4. หมูเถื่อนและซากสัตว์ลักลอบนำเข้า 10,000 ตู้ จับกุมผู้ต้องหาได้แต่คดียังไม่มีความคืบหน้า และ 5. หมูเถื่อนเปิดตู้ตกค้างเพิ่มเติมที่ท่าเรือแหลมฉบัง 17 ตู้ บพมีผุ้ต้องหารายเก่าและรายใหม่เป็นเจ้าของ คดีอยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวน

หวังว่า การลงมาสั่งการเองอีกครั้งของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา จะเป็นแรงขับเคลื่อน DSI ให้เร่งทำคดีอย่างรวดเร็วและเห็นผลตามเป้าหมาย กล่าวคือ ได้ตัวผู้กระทำผิดทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง มาลงโทษตามกฎหมาย ดดยไม่เกิดเหตุการณ์ déjà vu จนต้องสั่งปลดใครซ้ำสอง

โดย…อาบอรุณ ธรรมทาน นักวิชาการอิสระ

© 2021 thairemark.com