Sunday, 28 April 2024 - 9 : 20 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

สืบจาก 161 ตู้ “หมูเถื่อน”สู่การยึดทรัพย์ : อวสานหมูเถื่อน

กว่า 5 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ (DSI) รับคดี “หมูเถื่อน” จากกรมศุลกากร มาดำเนินการสืบสวน-สอบสวนเชิงลึกเพื่อหาตัวผู้กระทำผิด จากหลักฐานเอกสารนำเข้าที่ได้รับจากกรมศุลกากร นำไปสู่การเปิดตู้สินค้าตกค้างหน้าท่าเรือแหลมฉบังของ 11 สายเรือ จำนวน 161 ตู้ ที่เก็บหมูเถื่อนพักรอการผ่านพิธีศุลกากร ก่อนออกนำไปจำหน่ายทั่วประเทศไทยตามคำสั่งซื้อของกลุ่มทุนไทยผู้เป็นเจ้าของสินค้า

DSI สอบสวนเชิงลึกและขยายผลย้อนไปจนถึงมกราคม 2564 – กรกฎาคม 2566 พบหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการนำสืบคดีไปจนถึงต้นตออีกมาก คือ หมูเถื่อนมีการลักลอบนำเข้าโดย 18 สายเรือ (บริษัท) รวมทั้งสิ้น 2,385 ตู้ ปริมาณหมูเถื่อน 76,000 ตัน ในจำนวนนี้ 1,685 ตู้ น้ำหนัก 42,000 ตัน ถูกกระจายไปทั่วประเทศแล้ว

จากหลักฐานสำคัญที่พบกรณีหมูเถื่อน 161 ตู้ DSI ออกหมายจับผู้ต้องหาบุคคลแล้ว 12 หมาย จาก 8 บริษัท จับได้แล้ว 9 คน และจะทยอยออกหมายจับเพิ่มจนครบในเร็วๆ นี้ โดยผู้ต้องหา 2 รายล่าสุด ขอเข้ามอบตัวหลังหลบหนีออกนอกประเทศ และยังมีขอมอบตัวเพิ่มอีก 1 ราย หลังนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน สั่งการเด็ดขาดให้ DSI จับกุมตัวการใหญ่ให้ได้ภายใน 1 สัปดาห์ โดยไม่ละเว้นผู้มีอิทธิพล นายทุน นักการเมือง หรือ ข้าราชการ ให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุดและดำเนินการยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน

ทั้งนี้ DSI ยังได้ทำงานร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ตลอดจนทั้งยึดและอายัดทรัพย์ของกลุ่มบริษัทนำเข้าและกลุ่มนายทุน จากคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ ที่ถูกจับกุมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ที่มีทั้งที่ดิน รถยนต์ เงินฝากในบัญชีธนาคาร มูลค่ารวม 53 ล้านบาท

ในส่วนของการสอบสวนข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมประมง พบว่ามีการละเลยการตรวจสอบและตรวจปล่อยสินค้าตามกฎระเบียบและเอื้อประโยชน์ให้มิจฉาชีพนำเข้าหมูเถื่อนเข้ามา ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของประเทศ โดยเฉพาะการเข้าแทรกแซงตลาดและทุ่มตลาดเนื่องจากมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าหมูของไทย ส่งผลให้ผู้เลี้ยงหมูไทยต้องประสบปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือน โดยนายกฯ เศรษฐา ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณามาตรการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เพื่อฟื้นฟูเกษตรกรโดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมูรายย่อยให้กลับมาแข่งขันตามกลไกตลาดได้

ก่อนหน้านี้ คดีหมูเถื่อนมีการพาดพิงนักการเมืองชื่อย่อ ป, ผ, ช, ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี อยู่เบื้องหลังการนำเข้าและการค้าหมูเถื่อน ซึ่งจนถึงวันนี้ยังไม่มีการเปิดเผยชื่อจริงให้สังคมรับทราบ จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของ DSI ที่ต้องตีแผ่ให้ชัดเจนเอาคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย สร้างความโปรงใสในการดำเนินคดีและกรบวนการยุติธรรมของไทย

มากกว่า 1 ปี ที่ “หมูเถื่อน” เดินทางมาไกล และวันนี้เข้าใกล้จุดอวสาน ผู้บงการถูกจับกุมและถูกเปิดเผยโฉมหน้าให้สังคมได้รับรู้ถึงคนที่กล้าหาญทำร้ายประเทศไทย ทำร้ายเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ทำร้ายผู้บริโภคคนไทย ซึ่งมูลค่าความเสียหายประเมินกันคร่าวๆ วันนี้ ประมาณ 70,000 ล้านบาท แต่ความเสียหายกับสุขภาพของคนไทยจากหมูเถื่อนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ โดยเฉพาะสารปนเปื้อน สารตกค้าง โรคระบาด ที่อาจติดมากับเนื้อหมูเหล่านี้ สารเร่งเนื้อแดง ที่ประเทศต้นทางอย่างบราซิล เม็กซิโก และประเทศทางตะวันตก ที่ยังอนุญาตให้ใช้ได้ ล้วนเป็นภัยร้ายที่กัดกร่อนคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยและเศรษฐกิจของไทย ที่ต้องเร่งกวาดล้างให้ถึง “จุดจบ” เร็วที่สุด

โดย..อัปสร พรสวรรค์ นักวิชาการอิสระ

© 2021 thairemark.com