รัฐบาลแจ้งเตือน 10 จังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง หลังพบ “ธนบัตรปลอม” ระบาด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน ย้ำ ใช้แบงก์ปลอมมีความผิด โทษคุก 10 ปี ปรับ 2 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งเตือนว่า ขณะนี้พบสถานการณ์ธนบัตรปลอมในพื้นที่ 10 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่
ขอนแก่น
อุดรธานี
กาฬสินธุ์
ร้อยเอ็ด
มหาสารคาม
หนองบัวลำภู
นครราชสีมา
ชัยภูมิ
มุกดาหาร
เพชรบูรณ์
ขอให้ประชาชนใน 10 จังหวัดดังกล่าว และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เพิ่มความระมัดระวังในการรับธนบัตร โดยเฉพาะผู้ทำการค้าขายที่ต้องรับ-จ่ายธนบัตรอยู่เสมอ
ธปท. แนะวิธีสังเกตธนบัตรปลอม (แบงก์ปลอม)
สัมผัสที่กระดาษธนบัตร จะมีความแตกต่างจากกระดาษทั่วไป คือมีความแกร่ง ทนทาน และไม่ยุ่ยง่าย เนื่องจากธนบัตรทำจากกระดาษที่มีใยฝ้ายเป็นส่วนประกอบหลัก
สังเกตลายพิมพ์เส้นนูนบนธนบัตร ภาพและลายเส้นบนธนบัตรจะมีความละเอียดคมชัด คำว่า “รัฐบาลไทย” ตัวอักษรและตัวเลขแจ้งชนิดราคา เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือจะรู้สึกสะดุด
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ยกส่องและสังเกตที่ลายน้ำ ธนบัตรไทยของจริงลายน้ำจะเป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อยกส่องกับแสงสว่างจะเห็นได้อย่างชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตร นอกจากนี้ ลายน้ำยังมีตัวเลขชนิดราคารูปลายไทยที่โปร่งแสงเป็นพิเศษด้วย
พลิกเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง กรณีธนบัตรจริงจะพบตัวเลขแจ้งชนิดราคาซ่อนอยู่ในลายประดิษฐ์ สำหรับธนบัตรชนิดราคา 500 บาท และ 1,000 บาท ลายดอกประดิษฐ์จะพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติที่เปลี่ยนสีได้ ภายในลายดอกประดิษฐ์จะมีตัวเลขแจ้งชนิดราคา เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงหรือพลิกซ้ายขวา จะเห็นการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนสลับสี ส่วนชนิดราคา 100 บาท ลายดอกประดิษฐ์พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ เมื่อพลิกธนบัตรไปมาจะเห็นเป็นประกาย
รองโฆษกรัฐบาล กล่าวต่อไปว่า กรณีที่เผลอรับธนบัตรปลอมไว้แล้ว ประชาชนต้องไม่นำไปใช้ต่อ เนื่องจากจะมีความผิดฐานใช้ธนบัตรปลอม ตามมาตรา 245 ประมวลกฎหมายอาญามีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และควรนำไปส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์เพื่อนำส่งเข้าระบบเพื่อทำลาย หรือนำส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมแจ้งลักษณะรูปพรรณและสิ่งอื่นๆ เกี่ยวกับผู้ที่นำธนบัตรปลอมมาใช้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นข้อมูลในการสืบสวนจับกุมต่อไป หรือแจ้ง ธปท. โทรศัพท์ 02-356-7987
ทั้งนี้ หากเป็นกรณีที่ประชาชนได้แจ้งเบาะแสแหล่งผลิตหรือแหล่งจำหน่ายธนบัตรปลอม จนนำไปสู่การสืบสวนจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้ จะได้รับเงินสินบนตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลการจับกุมการปลอมแปลงธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2529 ใน 2 กรณี คือ
- กรณีที่จับได้ตัวผู้ต้องหา และของกลางเป็นอุปกรณ์ ให้จ่ายเงินสินบนในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของราคาอุปกรณ์ตามที่กรมธนารักษ์ หรือ ธปท. แล้วแต่กรณีประเมินราคา แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- กรณีที่จับได้ตัวผู้ต้องหา และของกลางเป็นธนบัตรปลอม เงินสินบนจะอยู่ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของราคาในหน้าธนบัตรปลอมหรือเหรียญกษาปณ์ปลอมที่จับได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท