Saturday, 12 October 2024 - 1 : 04 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

เหตุใด!ผู้ก่อเหตุมักจะอ้างว่า “ผมป่วยเป็นโรคจิต” ครับ

ทุกวันนี้ เมื่ออ่านข่าวอาชญากรรมมักจะเจอแต่คำว่า “ คนร้ายหรือ ญาตพี่น้องมักจะอ้างเหตุป่วยเป็นโรคจิต หรือ ขาดยาหรือไม่ได้ทานยาที่รักษาโรคจิตอย่างต่อเนื่อง”
อ้างแล้ว ผู้ก่อเหตุไม่ต้องรับผิดเช่นนั้นได้….จริงหรือ ?
หากอ้างได้ ผู้ก่อเหตุทุกคนก็จะอ้างเหตุป่วยเป็นโรคจิต เพื่อมิให้ตนต้องรับผิด
แล้วผู้เสียหายหละ….. จะได้รับการคุ้มครองเยียวยาอย่างไร
แล้วกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน มุ่งคุ้มครอง “ผู้เสียหาย” หรือมุ่งคุ้มครอง “ ผู้ก่อเหตุ”
ท่านเคยสงสัยไหม?

ล่าสุด กรณีมีนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ฉายา “เค ร้อยล้าน” ออกมาก่อเหตุวุ่นวายตามสถานที่สาธารณะจำนวนครั้ง ครั้งล่าสุด ได้ก่อเหตุเข้าทำร้ายร่างกาย นายธ.ธง ประธานคณะก. ขณะร่วมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมกับตะโกนข่มขู่คนในบริเวณนั้นว่า “มีระเบิด” ทำให้เกิดเหตุโกลาหล คนวิ่งหนีกันชุลมุนวุ่นวาย

จากพฤติการณ์ดังกล่าว นายเค. ต้องรับผิดในการกระทำของตนหรือไม่

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 384 บัญญัติว่า

“ ผู้ใด แกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

การที่นาย เค.ตะโกนข่มขู่คนในบริเวณนั้นว่า “มีระเบิด” ( ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้มีระเบิดแต่อย่างใด) ทำให้เกิดเหตุโกลาหล คนวิ่งหนีกันชุลมุนวุ่นวาย ย่อมเป็นความผิดตามบทบัญญัติ มาตรา 384 ดังกล่าว แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิด “ลหุโทษ” (ความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท) เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมเป็นอันระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 (2) , ( 3)

แต่ถ้า กรณีการตะโกนว่า “ มีระเบิด” ดังกล่าว หากต่อมาปรากฏว่า มีระเบิดจริง ก็จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 38 ห้ามมิให้ผู้ใด ทำ ซื้อ มี ใช้ สั่ง นำเข้า ค้า หรือจำหน่ายด้วยประการใด ๆ ซึ่งวัตถุระเบิด เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ หากฝ่าฝืนมีโทษตาม มาตรา 74 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 40,000 บาท

ส่วนความผิดฐาน “ ทำร้ายร่างกาย นาย ธ.ธง” จะเป็นความผิดฐาน “ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท “

หรือ จะเป็นความผิดฐาน “ ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส” ตามมาตรา 297 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 200,000.-บาท นั้นขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งการกระทำและบาดแผลที่ได้รับว่า เข้ากรณีหนึ่งกรณีใดใน 8 กรณี หรือวงเล็บหรือไม่ หรือเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน หรือประกอบกรณีกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน หรือไม่ (หากใช่ ถือว่า ได้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 297 ) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ ใบรับรองผลการตรวจร่างกายของแพทย์และข้อเท็จจริงจากการรักษาพยาบาล

ความผิดฐาน “ ทำร้ายร่างกาย” (ไม่ว่าจะเป็นกรณี มาตรา 295 หรือ 297 ก็ตาม ) ผู้เสียหาย คือ นายธ.ธง (แต่ก็เป็นความผิดต่อแผ่นดินเช่นกัน เพราะมุ่งคุ้มครองความสงบสุขของสังคม มิให้ ผู้หนึ่งผู้ใดมาทำร้ายร่างกายผู้อื่น)

ส่วนความผิดฐานตะโกนว่า “ มีระเบิด”ทำให้ผู้อื่นตกใจกลัว ตามาตรา 384 (หรือตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ กรณีมีระเบิดจริง) ผู้เสียหาย คือ รัฐ (มุ่งคุ้มครองความสงบสุขของสังคม)

นาย เค. หรือผู้ก่อเหตุรายอื่นๆ จะอ้างเหตุ “วิกลจริต” หรือ “ป่วยเป็นโรคจิต” เพื่อให้ตนพ้นผิดได้หรือไม่ ?

มาดูหลักกฎหมายในเรื่องนี้

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 บัญญัติว่า “ บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่ จะได้กระทำความโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดย แจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา 65 ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น

แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

นี่คือ ที่มาที่ผู้กระทำผิดมักจะกล่าวอ้างว่า ตนเองป่วยเป็นโรคจิต หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้

อย่างไรก็ตาม แม้ ผู้ก่อเหตุจะอ้างว่า “ ตนเองป่วยเป็นโรคจิต หรือตนเองไม่สามารถบังคับตนเองได้” เพื่อให้ตนเองไม่ต้องรับผิด หรือรับผิดน้อยลงก็ตาม แต่ก็หาใช่ ผู้ก่อเหตุจะไม่ถูกจับกุมดำเนินคดี เพราะคำกล่าวอ้างดังกล่าว ผู้ก่อเหตุจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า

“ ผู้นั้นได้กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน”

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 ใช้คำว่า “จิตบกพร่อง, โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน”( มิได้ใช้คำว่า “วิกลจริต” ดังที่ปรากฏใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 ) โดยมิได้มีบทนิยามศัพท์คำว่า จิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ว่ามีความหมายอย่างไร

แต่ใน พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 กลับใช้คำว่า “ ความผิดปกติทางจิต” และคำว่า “ผู้ป่วยคดี”

้มื่อมีการจับกุมตัวผู้กระทำผิด ( ที่อ้างเหตุ จิตบกพร่อง,โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน หรือวิกลจริตก็ตาม) ได้แล้ว พนักงานสอบสวน จะทำการสอบสวน หรือศาลจะทำการไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาคดีต่อไปได้หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 14 ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ให้พนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณี สั่งให้พนักงานแพทย์ตรวจผู้นั้นเสร็จแล้วให้เรียกพนักงานแพทย์ผู้นั้นมาให้ถ้อยคำ หรือให้การว่าตรวจได้ผลประการใด

ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไว้จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้ และให้มีอำนาจ ส่งตัวผู้นั้นไปยังยังโรงพยาบาลโรคจิตหรือมอบให้แก่ผู้อนุบาล ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้อื่นที่เต็มใจรับไปดูแลรักษาก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร

กรณีที่ศาลงดการไต่สวนมูลฟ้องและพิจารณาดังบัญญัติไว้ในวรรคก่อนศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเสียชั่วคราวก็ได้

แสดงให้เห็นว่า พนักงานสอบสวน จะงดทำการสอบสวนได้ หรือศาลจะงดไต่สวนมูลฟ้อง หรืองดการพิจารณาคดีได้นั้น จักต้องได้ความว่า

  1. ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริต และ
  2. ไม่สามารถต่อสู้คดีได้

โดย พนักงานสอบสวน และ/หรือศาลจะต้องฟังความเห็นจากแพทย์ผู้ตรวจผู้นั้นก่อนว่า เข้าทั้งสองเหตุดังกล่าว และเมื่องดการสอบสวน หรืองดการไต่สวนมูลฟ้อง หรืองดการพิจารณาคดีแล้ว (อาจ) ส่งตัวผู้นั้นไปยังยังโรงพยาบาลโรคจิตหรือมอบให้แก่ผู้อนุบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้อื่นที่เต็มใจรับไปดูแลรักษาก็ได้ และในกรณีที่ศาลมีคำสั่ง งดการไต่สวนมูลฟ้องและ/หรืองดการพิจารณาศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเสียชั่วคราวเสียก็ได้

แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้กำหนดว่า ให้งดการสอบสวน หรืองดการไต่สวนมูลฟ้อง หรืองดการพิจารณาคดีได้นานเท่าใด หากต่อมา ระยะเวลาได้ล่วงเลยมาจนกระทั่งคดีขาดอายุความ แต่ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังบำบัดรักษาไม่หายจากอาการวิกลจริต และยังไม่อยู่ในอาการที่สามารถต่อสู้คดีได้ ก็อาจเป็นผลเสียแก่คดีได้เพราะคดีขาดอายุความ

มีข้อน่าสังเกตว่า การงดการสอบสวนของพนักงานสอบสวนเพราะเหตุวิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เป็นการงดเพื่อรอให้ผู้ต้องหาหายจากการวิกลจริตและสามารถต่อสู้คดีได้ มิใช่กรณีการงดการสอบสวนเพราะการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 140 ดังนั้น ในกรณีนี้ พนักงานสอบสวนจึงไม่ต้องส่งสำนวนการสอบสวนคดีนี้ไปยัง พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่ง รอจนกว่าเหตุวิกลจริตจะหมดไปแล้วจึงค่อยส่งสำนวนการสอบสวนไปให้พนักงานอัยการต่อไป

ข้อน่าสังเกตประการที่สองคือ กฎหมายยังไม่ได้ให้อำนาจ “พนักงานอัยการ”ที่จะสั่งให้ แพทย์ตรวจตัวผู้ต้องหา และเรียกให้แพทย์ผู้ตรวจมาให้ถ้อยคำ เพื่อจะงดการสอบสวน หรืองดไต่สวนมูลฟ้อง หรืองดการพิจารณา ตลอดจนส่งตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นผู้วิกลจริตไปโรงพยาบาลโรคจิต หรือให้ผู้อนุบาลมารับตัวไปดูแลเช่นเดียวกับ พนักงานสอบสวนและศาล (ดังที่กล่าวแล้ว ตามมาตรา 14 ป.วิ.อ.) ทำให้อาจเกิดปัญหาว่า เหตุข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดขึ้นในชั้นพนักงานอัยการจะทำเช่นไร

ในเรื่องนี้ ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 ข้อ93 ได้วางหลักเกณฑ์ว่า

กรณีผู้ต้องหาไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เพราะป่วยหนักหรือ วิกลจริต หรือเหตุอื่นอันคล้ายคลึงกัน หากพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหานั้น ให้พนักงานอัยการรอการยื่นฟ้องผู้ต้องหานั้นต่อศาลไว้ก่อนจนกว่าเหตุนั้นๆจะได้หมดไป แล้วจึงยื่นฟ้องผู้ต้องหานั้นต่อศาล

การรอจนกว่าเหตุนั้นจะหมดไปดังกล่าว ก็อาจเป็นเหตุให้คดีขาดอายุความได้เช่นกัน

ด้วยหลักกฎหมายดังกล่าว จึงอาจเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาหรือผู้กระทำผิด มักจะกล่าวอ้างว่า ตนเองป่วยเป็นโรคจิต หรือไม่สามารถบังคับตัวเองได้ หรือมีประวัติการรักษาเกี่ยวกับโรคจิตแต่ขาดยาหรือไม่ได้รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ก่อเหตุ ทั้งนี้เพื่อให้ตนเองไม่ต้องรับผิด หรือรับผิดน้อยลง

ยังมีกฎหมายอีกหนึ่งฉบับที่ยังไม่ได้กล่าว คือ พระราชบัญญัติสุขภาพจิตพ.ศ. 2551 มีผล 20 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่จะเข้ามาช่วยคุ้มครองมิให้ประชาชนได้รับอันตรายจากผู้มีความผิดปกติทางจิต เช่น

มาตรา 22 บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา
(1) มีภาวะอันตราย
(2) มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา

มาตรา 23 ผู้ใดพบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นมีลักษณะตามมาตรา 22 ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยไม่ชักช้า

มาตรา 24 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้รับแจ้งตามมาตรา 23หรือพบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์ อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นมีลักษณะตามมาตรา 22 ให้ดำเนินการนำตัวบุคคลนั้นไปยังสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษาซึ่งอยู่ ใกล้โดยไม่ชักช้า เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการเบื้องต้นตามมาตรา 27 ทั้งนี้ โดยจะมีผู้รับดูแลบุคคลดังกล่าวไปด้วย หรือไม่ก็ได้ การนำตัวบุคคลตามวรรคหนึ่งไปยังสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษาโดยการผูกมัดร่างกายบุคคลดังกล่าวจะกระทำ ไม่ได้ เว้นแต่เป็นความจำเป็นเพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่อบุคคลนั้นเอง บุคคลอื่น หรือทรัพย์สินของผู้อื่น

เนื่องจากยังมีสาระสำคัญของกฎหมายอีกมาก เอาไว้กล่าวต่อไปในครั้งหน้า

• นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (คนที่สี่) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร

© 2021 thairemark.com