Saturday, 7 December 2024 - 9 : 08 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

รู้หรือไม่ว่า…“พลเรือนไทย”ครอบครองปืนที่ 1 ในอาเซียน ตายเพราะปืนอันดับที่ 15 ของโลก

ปัจจุบันสังคมไทยต่างตั้งข้อสงสัยว่าปืนนั้นได้มาจากไหน เรามีปืนเอาไว้ทำไม และรู้หรือไม่ว่า…”พลเรือนไทย”

มีปืนไว้ในครอบครองมากที่สุดในบรรดาชาติอาเซียน เหตุการณ์อดีตตำรวจก่อเหตุบุกเข้าไปกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ส่งผลให้มีเสียชีวิตรวมแล้ว 38 ศพและบาดเจ็บสาหัสอีก 12 ราย

นี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นในลักษณะเช่นนี้ ทั้งที่เป็นข้าราชการ หรือ อดีตข้าราชการ หรือ ชาวบ้านทั่วไป ส่วนมูลเหตุการจูงใจในการก่อเหตุก็เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย แต่สิ่งที่สำคัญคือ ผู้ก่อเหตุอันเลวร้ายจนช็อคคนไทยทั้งประเทศ และยังกลายเป็นกระแสทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ เป็นอดีตข้าราชการตำรวจที่ถูกไล่ออกจากราชการ มีการครอบครองอาวุธปืนได้อย่างไร ยกเว้นแต่จะเป็นอาวุธปืนส่วนตัวของผู้ก่อเหตุเอง

หากย้อนดูข้อมูลการครอบครองอาวุธปืนทั่วโลกพบว่า มีไม่น้อยเลยทีเดียว แม้แต่ประเทศไทยเอง มีการครอบครองปืนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน รวมถึงการเกิดคดีที่เกี่ยวกับอาวุธปืนทั้งปืนที่มีทะเบียนและไม่มีทะเบียนเมื่อสถิติย้อนหลัง 4 ปี มีมากกว่า 1 แสนคดีเลยทีเดียว

คนไทยครอบครองปืนมากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน

ข้อมูลจากองค์กร Small Arms Survey จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืนของพลเรือน พบว่าปี 2560 ทั่วโลกมีอาวุธปืนกว่า 800  ล้านกระบอก โดยสหรัฐอเมริกามีพลเมืองครอบครองอาวุธปืนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลกอยู่ที่ 393 ล้านกระบอก หากนับประชากรในอาเซียนที่มีทั้งหมด 647 ล้านคน ส่วนประชากรของไทย 68 ล้านคน อาวุธปืนที่อยู่ในการครอบครองของพลเรือนมีถึง 10,342,000 กระบอก นับเป็นประเทศที่ครอบครองปืนสูงที่สุดในอาเซียน

“แยกเป็นอาวุธปืนที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องจำนวน 6,221,180 กระบอก ส่วนที่เหลือก็อีกกว่า 4 ล้านกระบอก เป็นอาวุธปืนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งเทียบกันง่ายๆ คือถ้าคนไทยจำนวน 100 คน จะพบว่ามีอาวุธปืนอยู่ในการครอบครอง 15 คนเลยทีเดียว”

สำหรับประเทศไทยได้รับการอนุมัติให้นำเข้าอาวุธปืน เริ่มมาตั้งแต่ปี 2550-ปัจจุบัน จากข้อมูลอาวุธปืนที่อนุญาตให้บุคคลครอบครองทั่วประเทศ ในปี 2560 รวม 6,221,180 กระบอก มี 2 ประเภท คือ อาวุธปืนสั้น 3,744,877 กระบอก อาวุธปืนยาว 2,476,303 กระบอก

ผู้ครอบครองต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการ

การมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองได้นั้น ผู้ครอบครองจะต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการโดยการจดทะเบียนอาวุธปืนที่ว่าการอำเภอก่อน มิเช่นนั้นแล้วเป็นผู้ที่ครอบครองอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 72 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปีและปรับ 2,000 – 20,000 บาท ซึ่งการมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง จะต้องมีใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนส่วนบุคคล ให้มีอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนสำหรับการค้า หรือ ใบ ป.3 หรือเป็นใบอนุญาตเพื่อซื้ออาวุธปืน

การออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน หรือ ใบ ป.4 ซึ่งใบอนุญาต ป.4 คือ ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ให้มีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บ ให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนชั่วคราว ส่วนการพกพาอาวุธปืนติดตัวเป็นอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องมีใบอนุญาต ป.12 ก่อน คือ ขออนุญาตนำอาวุธติดตัว โดย คุณสมบัติและหลักเกณฑ์การพิจารณาออกใบอนุญาตให้มีบุคคลมีอาวุธปืนติดตัว ตามหลักเกณฑ์ที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยกำหนด

อาวุธปืนสวัสดิการแก่ข้าราชการไว้ใช้ปฎิบัติงาน ป้องกันชีวิต

โครงการจัดหาอาวุธปืนให้แก่ข้าราชการ และ เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ข้าราชการไว้ใช้ปฏิบัติงานและเพื่อป้องกันชีวิต ทรัพย์สิน โดยปืนที่ขึ้นทะเบียน หรือปืนในระบบจะมีราคาที่สูงมาก แม้ว่าจะสั่งซื้อตามโควตาสวัสดิการปืนข้าราชการตำรวจ หรือข้าราชการกรมการปกครอง และได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า มีราคาถูกกว่าในตลาดก็ตาม แต่สนนราคาปืนโควตาสวัสดิการฯ ก็ยังตกอยู่ที่กระบอกละ 40,000-50,000 บาทขึ้นไป

อย่างไรก็ตามหากเทียบกับเงินเดือนข้าราชการตำรวจที่ได้ในแต่ละเดือน ก็อาจจะต้องเก็บเงินกันสักพักหนึ่ง กว่าจะมีปืนไว้ในครอบครองเพื่อปฏิบัติภารกิจได้ “ตำรวจบางคน ก็ต้องผ่อนค่าปืนด้วยซ้ำ” ส่วนประชาชนที่ต้องการจะมีปืนที่ถูกกฎหมายเป็นของตัวเอง ก็จะต้องหาซื้อตามร้านขายปืนที่ถูกกฎหมายเช่นกัน ราคาก็จะสูงกว่าปืนสวัสดิการ เริ่มต้นก็ที่ 80,000-90,000 บาท ว่ากันไปตามรุ่น ยี่ห้อ และสมรรถนะของปืนตามที่ต้องการ

เหตุผลที่ต้องนำเรื่อง “ราคา” มาเป็นที่ตั้ง เพราะ “ราคาที่สูง” จะทำให้การเข้าถึงปืนยากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้นำไปก่ออาชญากรรม  กระนั้นเมื่อถามว่าทำไมข้าราชการจึงต้องซื้อปืนเป็นของตนเอง เนื่องจากปืนหลวงหรือปืนที่รัฐบาลมีให้ใช้ มีสภาพเก่า มีจำนวนปืนไม่เพียงพอ ตามจำนวนข้าราชการ และที่สำคัญหากนำปืนหลวงไปใช้แล้วเกิดชำรุดหรือสูญหาย จะต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวนและต้องชดใช้เท่าราคาเต็มของอาวุธปืน

หากย้อนมองอาวุธปืนสวัสดิการทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านบวกเพื่อให้ข้าราชการได้ครอบครองอาวุธปืน เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด แต่ในด้านลบ การที่ข้าราชการเข้าถึงการซื้ออาวุธปืนที่ง่าย และราคาถูก ทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐครอบครองเกินกว่าความเหมาะสม และความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ สามารถซื้ออาวุธปืนคนละหลายกระบอก รวมถึงการครอบครองอาวุธปืน ส่วนหนึ่งเพื่อเก็งกำไรในอนาคต (เพราะทุกคนมีสิทธิในการซื้อ จึงซื้อตามสิทธิ) เพราะราคาปืนในโครงการสวัสดิการฯ นั้น ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า มีราคาถูกกว่าในตลาด ซึ่งสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ภายใน 5 ปี หรือเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับตัวเองโดยการนำอาวุธปืนไปจำนำ

ทั้งนี้หากอาวุธปืน หลุดจำนำ คาดว่า บางส่วนอาจถูกปล่อยขายเป็นปืนเถื่อน มีเส้นทาง 2 เส้นทาง ได้แก่ 1.หากปล่อยขายในประเทศ เลขทะเบียนปืน ต้องขูดลบหรือทำลายทิ้ง 2.หากปล่อยขายในประเทศเพื่อนบ้าน อาจคงทะเบียนปืนนั้นไว้ เพื่อมิให้มีตำหนิจากการขูดลบ ทำให้เสียราคา แสดงราคาเป็นปืนมีประวัติ เป็นต้น

คนไทยมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองเพื่ออะไร….?

ประเภทของใบอนุญาต โดยปัจจุบันห้ามมิให้ซื้อ มี ใช้ สั่ง นำเข้า อาวุธปืน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ เป็นกรณีที่มีความจำเป็นคือ 1.บุคคลสำหรับใช้ในการป้องกันตัวหรือทรัพย์สิน 2.เพื่อใช้ในการกีฬา 3. เพื่อใช้สำหรับยิงสัตว์ หรือล่าสัตว์ อีกกรณีหนึ่งคือมีอาวุธปืนไว้เพื่อการเก็บ หรือ สะสม ต้องขออนุญาตจากทางราชการด้วยเช่นกัน ซึ่งการเก็บ หมายถึงการมีไว้โดยไม่ใช้อาวุธปืนนั้น เช่น การเก็บไว้เป็นที่ระลึก เป็นต้น สำหรับ ใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บ จะออกให้แก่อาวุธปืน ดังต่อไปนี้ 1. อาวุธปืนที่นายทะเบียนเห็นว่าชำรุดจนใช้ยิงไม่ได้ 2. อาวุธปืนแบบพ้นสมัย เช่น ปืนที่ใช้ในสมัยโบราณ, ปืนที่เป็นของเก่าแก่ 3. อาวุธปืนที่เป็นรางวัลจากการแข่งขันยิงปืนในทางราชการ  จากนี้แล้วกฎหมายมีข้อห้ามเกี่ยวกับอาวุธปืนที่มีไว้เพื่อเก็บ คือ ห้ามไม่ให้ยิงอาวุธปืนนั้น และห้ามไม่ให้มีเครื่องกระสุนปืนที่จะใช้สำหรับอาวุธปืนที่จะมีไว้เพื่อเก็บ

“ปืนเถื่อน” ทางเลือกของประชาชนที่งบประมาณน้อย

เมื่อกล่าวถึงปืนเถื่อนในที่นี้ ไม่ใช่ปืนไทยประดิษฐ์อย่างเดียว แต่หมายรวมถึง ปืนทุกชนิดที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือปืนที่ถูกลบเลขทะเบียนที่ตัวปืนออกไป ส่วนปืนไทยประดิษฐ์ เกิดขึ้นมานานแล้วในชนบท ที่ชาวบ้านผลิตขึ้นใช้เองเพื่อล่าสัตว์ และเพื่อป้องกันทรัพย์สินในพื้นที่ทุรกันดาร หากนำไปขึ้นทะเบียนที่อำเภอ ในต่างจังหวัด หรือ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ก็กลายเป็นปืนที่ถูกกฎหมายได้เช่นกัน ด้วยความที่มีราคาไม่แพงมากนัก หาซื้อง่าย สั่งซื้อทางออนไลน์ก็ได้ เมื่อสั่งซื้อและชำระเงินแล้วเพียง 2-3 วัน ก็ได้ของมาไว้ในมือ ไม่มีทะเบียน ไม่ต้องเสียเวลาไปยื่นเอกสารต่าง ๆ ในการขอมีปืนไว้ในครอบครอง ทำให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย ดังนั้นปืนไม่มีทะเบียน ไม่ได้หมายความว่า ประชาชนเท่านั้นที่มี และปืนที่มีทะเบียนไม่ได้หมายความว่า ข้าราชการเท่านั้นที่จะครอบครองได้

จากข้อมูลสถิติที่ได้จาก กองบัญชาการตำรวจนครบาล และ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 ช่วงปี 2559-2562 พบว่า คดีอาญาที่รัฐเป็นผู้เสียหาย ความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ รวมทั้ง 4 ปี จะมีคดีเกิดจากอาวุธปืนมีทะเบียน 25,034 คดี และเกิดจากอาวุธปืนไม่มีทะเบียนมากถึง 91,376 คดี อาจจะดูย้อนแย้งในใจ เพราะจากข้อมูลข้างต้น จำนวนปืนที่ประชาชน ครอบครอง 10 ล้านกว่ากระบอก เป็นปืนมีทะเบียน 6 ล้าน และปืนไม่มีทะเบียน 4 ล้าน แต่ตัวเลขคดีที่เกิดจากปืนไม่มีทะเบียน มีมากกว่าคดีที่เกิดจากปืนมีทะเบียน มากกว่ากันถึง 3 ใน 4 เลยทีเดียว

แต่ความเป็นจริงอันน่ากลัวอีกอย่าง ที่แสดงผ่านตัวเลขปืนกว่า 10 ล้านกระบอกในมือคนไทยคือการที่จำนวนปืนในไทยมีจำนวนมากขนาดนี้ นั่นหมายถึง “ความรู้สึกถึงความปลอดภัย” ในชีวิตและทรัพย์สินของคนมีน้อยมากยิ่งขึ้น คนจึงรู้สึกว่าการมีปืนไว้ในครอบครอง เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของตัวเอง เป็นเรื่องที่ควรทำหรืออุ่นใจในยุคนี้ แต่สิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาสำคัญคือ การออกกฎหมายที่เข้มงวดในการควบคุมอาวุธปืน ทั้งการห้ามพกพาทุกกรณี ยกเว้นแต่เป็นเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น รวมทั้งกฎหมายการเข้าถึงอาวุธปืนของการขึ้นทะเบียน

อย่างไรก็ตามการจะลดปัญหาอาชญากรรมที่เกี่ยวกับอาวุธปืนจำเป็นต้องมีมาตรการหลายด้านควบคู่กันไป ทั้งการสร้างองค์ความรู้กฎหมายที่เป็นโทษเกี่ยวกับอาวุธปืนต้องเข้มงวด รวมถึงการแก้ปัญหาโครงสร้างต่าง ๆ ด้วยและรู้หรือไม่ “คนไทย” เป็นประเทศที่ 15 ของโลก ที่เสียชีวิตเพราะอาวุธปืน

© 2021 thairemark.com