เกษตรกรจากหลายพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า 50 คน เดินทางมาเข้าอบรมความรู้ด้านการแปรรูปพืชผักสวนครัว ที่บริเวณหน้า หจก.แม่ตังกวย ฟู้ดส์ หมู่ที่ 3 ต.บึงอ้อ อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา โดยมีนายสาธิต ประเสริฐสันติสุข เจ้าของ หจก.แม่ตังกวย ฟู้ดส์ ซึ่งรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรมาทำพริกแกง และน้ำจิ้มสุกี้ เป็นผู้บรรยายให้ความรู้ เรื่องการแปรรูปพืชผักสวนครัว อาทิ มะกรูด มะนาว ข่า ตะไคร้ เป็นต้น ให้กับเกษตรกรผู้สนใจ และนำไปปรับใช้ในพื้นที่ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับพืชผักสวนครัว โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน ซึ่งสินค้าการเกษตรหลายชนิดพาเหรดราคาตกต่ำเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักสวนครัวทั่วประเทศ
นายสาธิต ประเสริฐสันติสุข เจ้าของ หจก.แม่ตังกวย ฟู้ดส์ กล่าวว่า ปัญหาราคาพืชผักสวนครัวตกต่ำถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำซาก โดยเฉพาะมะกรูดและมะนาวที่ล้นตลาดช่วงเข้าพรรษาเป็นประจำทุกปี ในขณะที่ช่วงปีใหม่ถึงสงกรานต์ราคาจะพุ่งสูงขึ้น ซึ่งในช่วงราคาตกต่ำ เกษตรกรควรหันมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ฝานผิวแล้วตากแห้ง โดยมะกรูดสด 10 กิโลกรัมจะได้ผิวแห้ง 1 กิโลกรัม และเนื้อแห้ง 2 กิโลกรัม ซึ่งสามารถขายได้ในราคาสูงถึง 70 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับผิว และ 30 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับเนื้อ
“การแปรรูปต้องเลือกวัตถุดิบที่ไม่มีเชื้อรา ไม่เน่าเสีย เพราะจะกระทบต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ สำหรับโรงงานแปรรูปจะรับซื้อมะนาวที่มีตำหนิหรือสีเหลืองได้ ตราบใดที่ไม่เน่า ซึ่งต่างจากช่วงที่ราคาสูง โรงงานจะเลือกซื้อเฉพาะสินค้าสดไว้ขายในตลาดทั่วไป ทั้งนี้ ตนมองว่าการอบรมในครั้งนี้ไม่ได้คาดหวังสิ่งใดมาก นอกจากต้องการให้เกษตรกรไทยมีความรู้ รู้เท่าทันตลาด สามารถหาพาร์ทเนอร์ รู้วิธีขนส่งสินค้า และสร้างอาชีพให้คนในชุมชนไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้พิการก็สามารถมีรายได้จากการแปรรูปพืชผักได้เช่นกัน”นายสาธิต กล่าว
ด้านนางสาวครึงนุข วงศ์เย็น เกษตรกรชาวจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ตนเดินทางไกลกว่า 6 ชั่วโมง เพื่อมาเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาเครือข่ายเกษตรกรที่ตนอยู่ด้วย ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 500 ครัวเรือน ทั้งที่ทำเกษตรอินทรีย์และผู้เริ่มต้น ต่างประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาด โดยเฉพาะมะกรูดและมะนาวที่ราคาตกต่ำมากในช่วงหน้าฝน ปัญหานี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ตนมองว่าการอบรมครั้งนี้เปิดมุมมองใหม่
ปัจจุบันยังคงขายตรงให้กับผู้บริโภครายย่อยในตลาดเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นข้อดีสำหรับเกษตรกรรายย่อย แต่ยังไม่สามารถจัดการกับผลผลิตที่ล้นตลาดได้ ตนจึงพยายามมองหาโอกาสใหม่ๆ เช่น การร่วมมือกับผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพที่สามารถรับซื้อผลผลิตและนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจแปรรูป ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งการรวมกลุ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนก็จะช่วยให้สามารถบริหารจัดการด้านการผลิตและการตลาดได้ดียิ่งขึ้น ตนหวังว่าการแปรรูปจะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เกษตรกรรายย่อยอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่นางรุ้งเพชร์ ศุภสมภพ อายุ 57 ปี เกษตรกรชาวจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ตนมีพื้นที่เกษตรประมาณ 10 ไร่ อยู่ใกล้บึงน้ำ จึงเหมาะกับการปลูกพืชตระกูลเครื่องแกง เช่น มะกรูด ข่า และตะไคร้ โดยเฉพาะมะกรูดที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นผิว เนื้อ หรือใบ และสามารถตากแห้งทำเป็นสมุนไพรหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ จึงถือเป็นพืชสร้างรายได้แบบพาสซีฟ (passive income) สำหรับตนเอง ตนเคยได้รับคำแนะนำจากโค้ชผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนเลือกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และได้รับความรู้หลายอย่างจากผู้รับซื้ออย่างแม่ตังกวย ซึ่งให้คำปรึกษาอย่างจริงใจ ไม่ปิดบังเคล็ดลับ พร้อมแนะนำเทคนิคต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรขายสินค้าให้กับผู้อื่นได้อย่างอิสระ ตนมองว่าการมีเครือข่ายที่ดี มีผู้ให้คำปรึกษาที่ไว้ใจได้ เป็นเรื่องที่สำคัญมากในยุคที่เกษตรกรต้องแข่งขันกับปัจจัยหลายด้าน และตลาดที่ไม่แน่นอน การแปรรูปจึงเป็นทางออกที่ตนเลือกเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต และกระจายรายได้ให้คนในชุมชน