Thursday, 1 May 2025 - 1 : 16 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

“บ่อร้าง” แหล่งแพร่พันธุ์ปลาหมอคางดำ คุกคามระบบนิเวศต้องเร่งกำจัดด่วน

“ปลาหมอคางดำ” Blackchin tilapia หรือที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanothedon กลายเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ปลาต่างถิ่นที่กำลังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำของไทย จากการขยายพันธุ์ที่รวดเร็ว ทนทานต่อสภาพแวดล้อม และกินอาหารได้หลากหลายชนิด ปลาหมอคางดำจึงสามารถแทรกซึมเข้าไปในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ยากต่อการควบคุม

หนึ่งในต้นเหตุสำคัญของปัญหาที่มักถูกมองข้ามคือ “บ่อร้าง”  หรือบ่อน้ำที่ถูกปล่อยทิ้งไร้การดูแลจากเจ้าของหรือผู้ใช้ประโยชน์เดิม ซึ่งกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ชั้นเยี่ยมของปลาหมอคางดำโดยไม่ได้มีใครใส่ใจ บ่อเหล่านี้ไม่ได้แค่เพิ่มจำนวนปลาแต่ยังกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่กระจายสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในชุมชนโดยรอบ ทั้งในช่วงน้ำขึ้น-น้ำลงและเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก หรือน้ำล้นบ่อ ปลาเหล่านี้จะไหลเข้าสู่แม่น้ำ ลำคลอง และบึงสาธารณะอย่างไม่สามารถควบคุมได้

การปล่อยให้ปลาหมอคางดำเติบโตในบ่อร้างแล้วรอจับขายในโครงการของรัฐ ไม่ใช่แนวทางการจัดการที่ถูกต้อง ตรงกันข้ามกลับทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย เพราะปลาหมอคางดำจะใช้เวลานั้นแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว และเมื่อปล่อยทิ้งไว้นาน ยิ่งยากต่อการควบคุมและกำจัด

ที่สำคัญคือเจ้าของบ่อร้างและบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำทุกแห่ง สามารถมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมรอบๆ โดยแจ้งข้อมูลให้กรมประมงในพื้นที่ทราบทันทีเมื่อพบปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ เพื่อเข้าดำเนินการกำจัดอย่างเหมาะสม ทั้งการจับปลาให้มากที่สุด การปล่อยปลานักล่าในระดับที่เหมาะสม ตลอดจนการนำปลาที่จับได้ไปใช้ประโยชน์อย่างถูกวิธี

กรมประมงควรดำเนินการสำรวจบ่อร้างทั่วประเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยพบมีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำมาก่อน เพื่อจับปลาและลดปริมาณปลาหมอคางดำในบ่อร้างและแหล่งน้ำธรรมชาติให้มากที่สุด ก่อนที่ความเสียหายต่อระบบนิเวศจะแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ

การกำจัดปลาหมอคางดำอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าของบ่อร้างและบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วประเทศ ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา กำจัดเพื่อจำกัดปลาหมอคางดำไม่ให้ขยายพันธุ์ ซึ่งเร็วที่สุดคือรีบแจ้งข้อมูลให้กรมประมงในพื้นที่หรือลงมือจับทันที่ เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้กับระบบนิเวศ และยังช่วยป้องกันปัญหาซ้ำซ้อนในอนาคต และลดความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำชนิดอื่นอีกด้วย

ทั้งนี้ สังคมต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะการนำเข้าปลาหมอคางดำอย่างถูกต้องตามกฎหมายมีขั้นตอนและกระบวนการตรวจสอบจากรัฐอยู่แล้ว การพิจารณาความผิดใดๆ ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมและศาลที่จะใช้หลักฐานและข้อเท็จจริงเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน ไม่ควรรีบเร่งกล่าวโทษบนพื้นฐานของความเข้าใจคลาดเคลื่อน

ปลาหมอคางดำ ที่มีผลกระทบต่อสมดุลของแหล่งน้ำในประเทศไทยมาหลายปี หากทุกฝ่ายยังคงเพิกเฉย โดยเฉพาะเจ้าของบ่อร้าง ปัญหานี้จะยิ่งบานปลายและยากเกินเยียวยา ถึงเวลาที่เราทุกคนจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องทรัพยากรน้ำและระบบนิเวศไทยให้คงอยู่กับลูกหลานในอนาคต.

โดย…บดินทร์ สิงหาศัพท์ นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม 

© 2021 thairemark.com