ประเทศไทยยังคงเป็นผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ของโลก เท่ากับปริมาณการส่งออกของเวียดนามที่ 7.5 ล้านตันเช่นกัน และอินเดียยังคงเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกที่ปริมาณ 16.5 ล้านตัน จึงเป็นความเสี่ยงของไทยที่จะต้องรักษาอันดับ การเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก
ขณะเดียวกัน เวียดนามยังมีโอกาสที่จะส่งออกข้าวแซงไทยที่เป็นไปได้สูง เพราะเริ่มเห็นตัวเลขการส่งออกข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้น จากปกติการส่งออกเฉลี่ยเพียง 6 ล้านตันต่อปีเท่านั้น แต่เห็นชัดเจนขึ้นจากปี 2566 เวียดนามสามารถส่งออกได้ถึง 8.1 ล้านตัน และประมาณต้นปี 2567 เวียดนามสามารถประมูลข้าวจากอินโดนีเซียได้ถึง 4 แสนตัน จากการประมูลทั้งสิ้น 5 แสนตัน ส่วนที่เหลือเป็นของปากีสถานและเมียนมา ส่วนประเทศไทยไม่ได้เพราะราคาข้าวแพงกว่า
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการปรับตัวของผู้ผลิตและผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันการผลิตและการค้าขายทางภาคการเกษตรของไทยนั้น ต้องเผชิญความท้าทายในเรื่องของสถานการณ์วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม โดยผู้บริโภคต้องการสินค้าที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ข้าวถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ และไทยถือว่าอยู่ในฐานะผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ควรเร่งปรับตัวพร้อมทั้งพัฒนาการผลิต เพื่อเป็นการคว้าโอกาสและชิงตำแหน่งผู้นำในการทำตลาดข้าวคาร์บอนต่ำหรือข้าวลดโลกร้อน
จากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยพบว่า ภาคการเกษตรมีการปล่อยก๊าซถือเป็นอันดับที่ 2 หรือคิดเป็นร้อยละ 15.23 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด และอันดับที่ 1 จากภาคพลังงานที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 69.96 หากทำการพิจารณาเฉพาะภาคการเกษตร การปลูกข้าวถือเป็นกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด มีสัดส่วนถึงร้อยละ 50.58 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรทั้งหมด
ส่งผลให้หลายประเทศรวมถึงประเทศไทย เริ่มส่งเสริมการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Green Consumer) และข้าวที่ผ่านการปลูกด้วยกระบวนการนี้สามารถเพิ่มมูลค่าและจำหน่ายได้ราคาดี
ข้าวคาร์บอนต่ำ คือข้าวที่ผลิตและแปรรูปด้วยวิธีการและเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การทำนาเปียกสลับแห้ง การใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี การจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร โดยเฉพาะฟางที่ไม่ผ่านการเผา
นอกจากนี้ การผลิตข้าวคาร์บอนต่ำยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ รวมทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับกฎระเบียบ และมาตรการระหว่างประเทศที่นำประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาเป็นเงื่อนไขทางการค้า ซึ่งสอดรับกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเข้มงวด เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ไทยกำลังมีการส่งเสริมการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ ผ่านการดำเนินการต่างๆ อาทิ โครงการไทยไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) หรือโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2561 – กรกฎาคม 2567 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนา ผ่านการส่งเสริมองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสนับสนุนทางการเงิน
ในส่วนของเวียดนาม มีนโยบายรุกตลาดข้าวคาร์บอนต่ำและพัฒนาการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำอย่างรวดเร็ว โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่มุ่งเน้นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร ซึ่งเวียดนามใช้เทคนิคการปลูกข้าวคล้ายกับไทย โดยเน้นการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก
ปัจจุบันเวียดนามผลักดันนโยบาย Net Zero Emission ผลิต “ข้าวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Rice)” เพื่อตอบโจทย์ประเทศคู่ค้ากลุ่มตลาดพรีเมียมที่ใส่ใจเรื่องลดโลกร้อนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นในอนาคต และเวียดนามยังมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย และเข้าถึงตลาดข้าวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า โดยเฉพาะการมีข้อตกลง FTA กับสหภาพยุโรป ซึ่งมีข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด จึงอาจทำให้สามารถเจาะตลาดยุโรปได้ดีกว่าข้าวไทย
กระแสรักษ์โลกและเกณฑ์การค้าด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้น กำลังเป็นแรงผลักดันสำคัญที่กำลังทำให้ประเทศไทยต้องเร่งปรับตัวสู่แนวทางเกษตรคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะในภาคการผลิตข้าว ซึ่งเป็นพืชที่มีการปล่อยก๊าซมีเทนในปริมาณสูงจากกระบวนการทำนาแบบดั้งเดิม การพัฒนาแนวทางการผลิตข้าวที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อคงความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
ปัจจุบันประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี ในขณะที่เวียดนามสามารถผลิตได้ถึง 6.3 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าประเทศไทยราว 1.6 เท่า นี่สะท้อนให้เห็นว่าหากไทยต้องการรักษาสถานะในการแข่งขันด้านการค้าข้าวในตลาดโลก จำเป็นต้องมีการเร่งพัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
จากความต้องการข้าวคาร์บอนต่ำที่เพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อาจขยายครอบคลุมถึงสินค้าเกษตรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไทยจึงต้องให้ความสำคัญและเร่งส่งเสริมการผลิตและแปรรูปข้าวคาร์บอนต่ำ เพื่อตอบโจทย์ตลาดโลกและรักษาความสามารถในการแข่งขันข้าวไทยในอนาคต
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการแข่งขันของสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เพื่อลดภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการผลิต ซึ่งข้าวถือเป็นสินค้าเป้าหมาย โดยปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกข้าวอยู่ที่ 4.9 ล้านครัวเรือน ทั้งนาปี-นาปรัง รวมกว่า 70 ล้านไร่ หรือเกือบกึ่งหนึ่งของพื้นที่ภาคการเกษตรของประเทศไทย จึงต้องมีการปรับตัวเพื่อพัฒนาการผลิตข้าวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประสานงานกับภาคเอกชนให้ทำการรับซื้อข้าวจากชาวนา โดยได้ขอให้เพิ่มในเรื่องของราคารับซื้อข้าวที่ปลูกเป็นข้าวคาร์บอนต่ำสูงขึ้นประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ จากราคาที่เคยจำหน่ายได้ปกติ ซึ่งจะช่วยเป็นแรงจูงใจให้กับเกษตรกรเข้ามาร่วมทำนาคาร์บอนต่ำกันมากขึ้น โดยปีนี้มีการตั้งเป้าอยู่ที่ประมาณ 10,000,000 ไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 60,000,000 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกษตรกรรมของทั้งประเทศ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ ด้วยวิธีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เพราะจะช่วยให้ชาวนาลดการใช้น้ำในการเพาะปลูกได้กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกได้ และการทำนาด้วยเทคโนโลยี 4 ป. + 1 IPM คือ เทคโนโลยีดพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดโลกร้อน ภายใต้แนวคิด ทำนาลดโลกร้อน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน
โดยเทคโนโลยีนี้เป็นวิธีการที่เหมาะสมกับการทำนาในที่ราบลุ่มภาคกลาง เทคนิค 4 ป. และ 1 IPM มีขั้นตอน ดังนี้ ป 1 คือ การปรับที่นาด้วยระบบเลเซอร์ ให้มีความเรียบ สม่ำเสมอ ป 2 คือ การทำเปียกสลับแห้ง โดยให้น้ำแบบเปีกสลับแห้ง โดยจะมีการฝังท่อตรวจระดับน้ำในแปลงนาที่ปรับระดับ ซึ่งเกษตรกรจะสามารถตรวจค่าความชื้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องขังน้ำในนาตลอดเวลา ป 3 คือ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราห์ดิน เพื่อให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยได้ตรงตามความจำเป็นของพืช สามารถช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนได้ ป 4 คือ การแปรสภาพฟางข้าวให้ปลอดการเผา โดยทำการไถกลบและหมัก เพื่อลดหมอกควันจากการทำให้โลกร้อนได้ และ IPM คือ การใช้การกำจัดแมลงศัตรูพืชแบบผสมผสาน พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยมากขึ้น อาทิ การวัดอุณหภูมิ ปริมาณฝน และค่าความชื้น
วิธีการเหล่านี้ถือว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนา เพื่อให้ประเทศไทยมีการพัฒนาการได้อย่างยั่งยืน และชาวนาได้มีรายได้อยู่บนพื้นที่ของตนเองได้อย่างมั่นคง ข้าวคาร์บอนต่ำจึงเป็นโอกาสสำคัญของไทยในการแข่งขันในตลาดโลก ท่ามกลางกระแสการค้าและความต้องการสินค้าที่ยั่งยืน เวียดนามกำลังรุกตลาดข้าวคาร์บอนต่ำอย่างรวดเร็ว ขณะที่ไทยยังมีข้อจำกัดด้านต้นทุนและการเข้าถึงตลาด
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนมาสู่การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง และการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตลงได้ ซึ่งข้าวคาร์บอนต่ำยังเป็นที่ต้องการของตลาดพรีเมียม โดยสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงกว่าข้าวทั่วไป หากมีการส่งเสริมอย่างจริงจัง ไทยจะสามารถขยายตลาดข้าวคาร์บอนต่ำให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล