Wednesday, 5 February 2025 - 1 : 37 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

กรมส่งเสริมการเกษตรปูพรมเคาะประตู เน้นย้ำเกษตรไม่เผา ลุยจัดการเศษวัสดุ

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวภายหลังจากการร่วมงาน ไถกลบตอซัง สร้างดินยั่งยืน ฟื้นสิ่งแวดล้อม ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด จัดโดยกรมพัฒนาที่ดินว่า สำหรับการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนวางแนวทางในการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยใช้ฐานข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) มาจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกรายชนิดของพืชเกษตรที่เสี่ยงต่อการเผา

ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน พร้อมข้อมูลเกษตรกรแยกรายจังหวัด เพื่อนำไปสู่การวางแผนการบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรการบริการจัดการพื้นที่เกษตรที่เสี่ยงการเผาไหม้ เพื่อจัดทำระบบปฏิบัติการบริหารจัดการเชื้อเพลิงและแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงรายจังหวัด อำเภอ และตำบล ตามรายชื่อเกษตรกรและจำนวนพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนในแต่ละจังหวัด

ครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปี 2568 ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับนโยบายและวางกรอบแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการฯ พร้อมเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานขับเคลื่อนมาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ตามแนวทางรัฐบาล โดยเฉพาะการจัดทำฐานข้อมูล โดยรวบรวมข้อมูลพื้นที่การเพาะปลูกพืชที่เสี่ยงต่อการเผา (ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย) และข้อมูลเกษตรกรในแต่ละจังหวัดเพื่อวางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ที่เสี่ยงการเผา และใช้เทคโนโลยีโดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมและจุดความร้อนเพื่อติดตามและประเมินความเสี่ยงในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเผาไหม้

พร้อมประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่น รวมถึงวางแผนบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพิ่มมูลค่าเศษวัสดุ โดยการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ เช่น การทำปุ๋ยชีวภาพ การทำเชื้อเพลิงชีวมวล หรือการแปรรูปวัสดุเหลือใช้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า พร้อมสนับสนุนการแปรรูปเศษวัสดุ โดยจัดเตรียมข้อมูลและความร่วมมือกับโรงงานแปรรูปวัสดุเหลือใช้เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำเศษวัสดุมาขายหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ส่งเสริมการปลูกพืชหมุนเวียนหรือพืชมูลค่าสูง ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชจากพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ข้าว อ้อย มาเป็นพืชหมุนเวียนหรือพืชมูลค่าสูง

เช่น ถั่ว หรือพืชผักเพื่อให้การจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทำได้ง่ายขึ้น และสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเลิกเผา โดยการให้สิทธิประโยชน์แก่เกษตรกรที่ไม่เผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ด้วยการสนับสนุนการรับซื้อผลผลิตหรือการจัดการเศษวัสดุในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมลงพื้นที่ สร้างความเข้าใจเกษตรเราไม่เผาให้ครอบคลุมทุกจังหวัด

สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ ยังได้เยี่ยมชมการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของกลุ่มเกษตรกรณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอเมืองลำพูน และ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นกลุ่มแปลงใหญ่ลำไยที่สามารถจัดการเศษวัสดุเหลือใช้มาทำปุ๋ยหมักเพื่อลดการเผาและลดต้นทุนการผลิต เช่น ใบลำไย เปลือกลำไย ฟางข้าว ผักตบชวา

โดยสูตรการทำปุ๋ยหมัก ใช้เศษวัสดุ 1 ตัน มูลสัตว์ 200 กิโลกรัมยูเรีย 2 กิโลกรัม และ พด.11 ซอง นอกจากนี้ยังเพิ่มมูลค่าโดยนำมาทำเป็นอาหารสัตว์ อาหารปลา และทำเป็นปุ๋ยหมัก ซึ่งเกษตรกรพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และยังช่วยเป็นกระบอกเสียง ในการบอกต่อกับเกษตรทั่วไปถึงมาตรการลดการเผาในพื้นที่การเกษตร.

© 2021 thairemark.com