Thursday, 2 January 2025 - 9 : 48 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

อากาศร้อนรุนแง-แล้งจัด-โรคระบาด กระทบผู้เลี้ยงหมู-ไก่-ไข่ เสียหายพุ่ง ช้ำต้นทุนเพิ่ม

เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ผู้เลี้ยงไก่เนื้อ และผู้เลี้ยงไก่ไข่ เผยสภาพอากาศร้อน ภัยแล้ง อากาศแปรปรวน โรคสัตว์ซ้ำเติม ส่งผลสัตว์อ่อนแอเจ็บป่วยง่าย อัตราเสียหายเพิ่มขึ้น ชี้ต้นทุนสูงขึ้น เหตุต้องซื้อน้ำใช้ ใช้ไฟฟ้าเพิ่ม

นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยถึงสถานการณ์การเลี้ยงสุกรในปัจจุบันว่า จากปัญหาอากาศร้อน ภัยแล้ง และหลายพื้นที่ภาวะอากาศแปรปรวนตลอดทั้งวัน ส่งผลกระทบให้สัตว์ปรับสภาพร่างกายไม่ทัน เกิดความเครียด ทำให้กินอาหารน้อยลง การเติบโตช้าลง ร่างกายสัตว์อ่อนแอและเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น ประกอบกับในหน้าร้อนจะเกิดภาวะแห้งแล้ง ปริมาณน้ำให้สุกรกินมีไม่เพียงพอ รวมทั้งคุณภาพน้ำแย่ลง น้ำเป็นโคลนเลนมีความสกปรกสูง สุกรที่กินน้ำดังกล่าวมีโอกาสท้องร่วงมากขึ้น เกษตรกรจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพน้ำให้สะอาดก่อนนำมาใช้ และบางพื้นที่พบปัญหาน้ำแล้งจนต้องซื้อน้ำสำหรับใช้ในฟาร์มและให้สุกรกินแล้ว ซึ่งในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ปัญหานี้จะยิ่งชัดเจนขึ้น เกษตรกรแทบทุกรายจำเป็นต้องซื้อน้ำใช้ดังเช่นทุกปี ขณะเดียวกัน โรคสำคัญในสุกรยังคงมีอยู่ ทั้งปัญหาต่อเนื่องจากโรคอหิวาแอฟริกาในสุกร (ASF) และโรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED) ที่พบมากในช่วงฤดูกาลนี้ ปัญหาดังกล่าวสร้างความเสียหายค่อนข้างมากในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร

“ทั้งปัญหาสภาพอากาศและโรคในสุกรที่ยังมีอยู่ ทำให้อัตราการสูญเสียในฟาร์มสูงถึง 30-40% ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงของเกษตรกรรายย่อยในภาคเหนือสูงถึง 82-85 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ยทั่วประเทศของผู้เลี้ยงรายย่อยอยู่ที่ 79-80 บาทต่อกิโลกรัม แต่หากมีการจัดการด้านการป้องกันโรคได้ไม่ดี ต้นทุนจะสูงขึ้นมากกว่า 80 บาทต่อกิโลกรัม อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาระเพิ่มเติมในกรณีที่ต้องซื้อน้ำใช้ จะยิ่งทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงกว่านี้ สวนทางกับราคาสุกรหน้าฟาร์มเฉลี่ยที่ยังคงตกต่ำอยู่ที่เฉลี่ย 58 – 64 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้เกษตรกรต้องตัดสินใจหยุดเลี้ยงได้ หากราคาจำหน่ายยังต่ำกว่าต้นทุนเช่นนี้ แม้แนวโน้มการบริโภคจะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็ตาม” นายสุนทราภรณ์ กล่าว

สอดคล้องกับ นายสมบูรณ์ วัชรพงษ์พันธ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ กล่าวว่าภาวะอากาศร้อนเช่นนี้ การเลี้ยงไก่เนื้อมักพบปัญหา การกินอาหารน้อยลงจากความเครียดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ไก่โตช้า ใช้เวลาเลี้ยงนานขึ้น อัตราป่วยและเปอร์เซ็นต์ตายเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5% ในปัจจุบัน เกษตรกรจำเป็นต้องลดปริมาณการเลี้ยงไม่ให้มีปริมาณหนาแน่นเกินไป ผู้เลี้ยงหลายรายตัดสินใจลงเลี้ยงไก่ให้บางกว่าช่วงปกติ และการปรับสภาพอากาศในโรงเรือนต้องเปิดน้ำหล่อเลี้ยงระบบความเย็นและเปิดพัดลมระบายอากาศตลอดเวลา ค่าไฟฟ้าจึงเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความชื้นและก๊าซแอมโมเนียในโรงเรือน กระทบกับสุขภาพสัตว์

“ไก่ไม่มีต่อมเหงื่อที่ช่วยระบายความร้อน หากปล่อยให้ไก่ประสบกับอากาศร้อน จะทำให้ไก่ต้องเผชิญกับสภาวะ Heat Stress ซึ่งจะมีปัญหาในการย่อยอาหารและการดูดซึมสารอาหาร ทำให้เจริญเติบโตช้าลง ประสิทธิภาพการเจริญเติบโตก็ลดลงตามมา เสียเวลาและต้นทุนในการเลี้ยงเพิ่มขึ้น และการเตรียมน้ำสะอาดไว้ใช้อย่างเพียงพอ ก็ต้องเพิ่มต้นทุนการปรับคุณภาพน้ำ และเสริมวิตามินเพื่อช่วยกระตุ้นการกินน้ำ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงต่อตัวของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ขณะนี้ต้นทุนเฉลี่ยสูงถึง 41-42 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว และแนวโน้มจะสูงกว่านี้” นายสมบูรณ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน ในภาคการเลี้ยงไก่ไข่เกษตรกรต่างได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพอากาศร้อนไม่ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไก่เป็นสัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อช่วยระบายความร้อน และมีขนปกคลุมยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการระบายความร้อนออกจากร่างกาย ทำให้แม่ไก่กินอาหารลดลง กินน้ำมากขึ้น เพื่อช่วยลดความร้อนในร่างกาย แม่ไก่เกิดความเครียดสะสม และการกินอาหารน้อยทำให้สารอาหารที่ได้ไม่เพียงพอกับการสร้างฟองไข่ ผลผลิตไข่ไก่จึงลดลง ขนาดฟองไข่เล็กลง ราคาขายที่ได้ต่ำลง รายได้จึงลดลงตามไปด้วย ขณะที่อัตราเสียหายจากภาวะไข่แตกในท้องเพิ่มขึ้น เกษตรกรจึงมีต้นทุนสูงขึ้นจากตัวหารที่น้อยลง และยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าที่ต้องใช้มากขึ้น เพื่อใช้สำหรับทำความเย็นช่วยลดอุณหภูมิในโรงเรือนตลอดทั้งวัน./

Indoors chicken farm, chicken feeding
© 2021 thairemark.com