เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 เกษตรกรส่วนหนึ่งที่บ้านใหม่สมบูรณ์ ต.บ้านใหม่ อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา เริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกพืช จากการทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว ปลูกมันสำปะหลังหรืออ้อย หันมาปลูกพืชอายุสั้น อย่างเช่น กะหล่ำปลี กันเป็นจำนวนมาก หลังจากมีผู้ทดลองปลูกแล้วได้ผลดี และยังมีตลาดใกล้บ้านอย่างตลาดดอนแขวนเป็นจุดรับซื้อและกระจายผลผลิตทางการเกษตร ทั้งผักและผลไม้ อยู่ใกล้ๆ บ้านอีกด้วย จึงทำให้เกษตรกรไม่ต้องแบกรับภาระค่าขนส่งที่สูงมากนัก และความความมั่นใจว่า ผลผลิตที่ออกมาจะมีผู้รับซื้ออย่างต่อเนื่อง ทำให้ล่าสุดตอนนี้ มีเกษตรกรในบ้านใหม่สมบูรณ์ เปลี่ยนมาปลูกกะหล่ำปลีส่งจำหน่าย แทนการปลูกมันสำปะหลังและอ้อยแล้วกว่า 10 ราย แถมยังปลูกผักอายุสั้นอย่างอื่นอีกกว่า 10 ชนิด เป็นการสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น
นางพวงเพ็ญ ชโลมกลาง อายุ 42 ปี หนึ่งในเกษตรกรบ้านใหม่สมบูรณ์ กล่าวว่า ตนเองมีพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 4 ไร่ ก่อนหน้านี้ปลูกมันสำปะหลังเป็นประจำทุกปี คุ้มทุนบ้างขาดทุนบ้าง เพราะราคามันสำปะหลังผันผวน อีกทั้งต้นทุนการเพาะปลูกก็เพิ่มขึ้นประจำ เก็บเกี่ยวได้เป็นรายปี ทำให้มีรายได้ไม่พอจุนเจือครอบครัว แต่มาในช่วงหลัง ได้ลงทุนเจาะน้ำบาดาล ทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี จึงเริ่มหาพืชอายุสั้นมาปลูกทดแทน เพราะเก็บเกี่ยวได้เร็ว ได้เงินไว อีกทั้งยังมีตลาดรับซื้ออยู่ใกล้บ้าน ไม่ต้องลงทุนค่าขนส่งมากนัก โดยตอนนี้ได้หันมาปลูกกะหล่ำปลีส่งขาย เพราะใช้ระยะเวลาเพาะปลูกเพียง 60 วันเท่านั้น สภาพอากาศตอนนี้กำลังเย็นสบาย ทำให้ผักกะหล่ำเจริญเติบโตดี ส่วนราคาก็เป็นที่น่าพอใจ อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 8 – 10 บาทที่หน้าสวน เพราะราคาที่คุ้มทุนจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 6 – 7 บาท และหากช่วงไหนราคาดี ก็จะพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 15 บาท ซึ่งเมื่อช่วงเดียวกันนี้ของปีที่แล้ว ตนก็ปลูกกะหล่ำปลี 3 ไร่ ได้เงินกว่า 3 แสนบาทเลยทีเดียว
ด้านนายนัฐพล ปีกกลาง ผู้ใหญ่บ้านใหม่สมบูรณ์ กล่าวว่า เดิมทีพื้นที่การเกษตรของหมู่บ้านแห่งนี้ จะปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างอ้อยและมันสำปะหลังเป็นหลัก แต่ในช่วงหลัง มีการเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในการเกษตรกันมากขึ้น ประกอบกับมีการก่อตั้งตลาดดอนแขวน ซึ่งเป็นตลาดรับซื้อผักผลไม้และกระจายสินค้าการเกษตรท้องถิ่นขึ้น เกษตรกรจึงมีทางเลือกที่จะปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เพราะการปลูกมันสำปะหลังและอ้อยนั้นต้องใช้ระยะเวลาเกือบ 1 ปีจึงจะเก็บเกี่ยวได้และไม่แน่นอน ต้นทุนก็สูงขึ้นทุกปี ดังนั้น พืชอายุสั้นอย่างผักจึงเป็นที่สนใจและกำลังเป็นที่นิยมของเกษตรกรในพื้นที่อย่างมาก โดยเฉพาะกะหล่ำปลี ตอนนี้เกษตรกรกำลังเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกต่อเนื่อง เพราะเป็นพืชที่ลงทุนไม่สูงมากนักหากเทียบกับรายได้ตอบแทน โดยต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณไร่ละ 7 – 8 พันบาท ในขณะที่รายได้ในช่วงที่กะหล่ำปลีราคาสูงจะสูงกว่า 1 แสนบาทต่อไร่ ทำให้ตอนนี้มีเกษตรกรในหมู่บ้านหันมาปลูกกะหล่ำกันเกือบ 10 รายแล้ว รวมพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 30 ไร่
โดย…ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ/นครราชสีมา