ถ้านับกันแล้ว “หนองบัวลำภู” เป็นจังหวัดน้องใหม่ของภาคอีสาน เป็นดินแดนที่มั่งคั่งไปด้วยมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมซึ่งสั่งสมมาตั้งแต่อดีตและสืบทอดส่งต่ออย่างเข้มแข็งมาจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันผู้คนส่วนใหญ่ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม ก็ยังให้ความสำคัญกับวิถีเกษตรอินทรีย์ที่สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกอีกด้วย
“วิสาหกิจชุมชนถ่านไบโอชาร์และเกษตรอินทรีย์ ตำบลป่าไม้งาม” แห่งอำเภอเมืองฯ จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการรวมกลุ่มเพื่อทำเกษตรอินทรีย์ ที่มีผลเชิงประจักษ์ให้เกิดการต่อยอดขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ได้
นางสะคร นาคศรี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนถ่านไบโอชาร์และเกษตรอินทรีย์ ตำบลป่าไม้งาม บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มฯ ไว้น่าฟังว่า ที่นี่ทำเกษตรอินทรีย์ เพราะทุกคนเชื่อว่าดีต่อทั้งต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ผลผลิตสำคัญคือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ “ถ่านไบโอชาร์” หรือ “ถ่านชาร์โคลคาร์บอน” เป็นถ่านที่มีประสิทธิภาพสูง เมื่อนำไปใช้หุงต้ม ช่วยให้ประหยัดถ่าน ทั้งยังสามารถไปใช้ปรับปรุงบำรุงดินเพื่อการการเกษตรได้ด้วย
“เรายังมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก เช่น สบู่ ยาสีฟัน ครีมอาบน้ำ เกลือสปาขัดผิว และทำเป็นถ่านดับกลิ่น และยังมีน้ำส้มควันไม้ ที่เราไว้ใช้เป็นสมุนไพรในบ้าน ทั้งหมดนี้เริ่มจากการเป็นอาสาสมัครพลังงานชุมชน ได้เรียนรู้และนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน จนทุกวันนี้ทางกลุ่มก็มีการประยุกต์การใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทน ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของกระทรวงพลังงาน” ประธานกลุ่มฯ บอกเล่าอย่างภูมิใจ
ด้าน นายรัฐกร กลิ่นจันทร์ พลังงานจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวถึงการสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนถ่านไบโอชาร์และเกษตรอินทรีย์ ตำบลป่าไม้งาม ว่า หลังจากที่กลุ่มฯ ได้เข้าร่วมโครงการกับกระทรวงพลังงาน ก็มีความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานเพิ่มขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีด้านพลังงาน เตาเผาถ่าน 200 ลิตร ซึ่งทำให้ใช้เวลาน้อยลง นอกจากนี้ด้วยสภาพแวดล้อมของพื้นที่ซึ่งมีแสงแดด สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ จึงได้ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ขนาด 2.5 กิโลวัตต์ ส่งผลให้สามารถทดแทนการใช้ไฟฟ้าได้เดือนละประมาณ 1,400 บาท
“ที่นี่ยังมีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งช่วยทำให้คุณภาพดีขึ้น ใช้เวลาน้อยลง รวมถึงป้องกันสิ่งปนเปื้อนต่างๆ และยังมีการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน เพื่อให้กลุ่มต่างๆ ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และนำไปขยายผลต่อไป นับเป็นหนึ่งในความภูมิใจที่กลุ่มอาชีพต่างๆ ได้ติดต่อเพื่อให้กระทรวงพลังงานได้มีส่วนร่วมสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้และการขยายผลการใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานเพื่อความยั่งยืน” นายรัฐกรกล่าวย้ำ
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อเพื่อเยี่ยมชมและศึกษาขั้นตอนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้ที่วิสาหกิจชุมชนถ่านไบโอชาร์และเกษตรอินทรีย์ ตำบลป่าไม้งาม อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู หรือสอบถามข้อมูล โทรศัพท์ 086-2524292 และเฟซบุ๊ก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนถ่านไบโอชา ศพก.เครือข่ายตำบลป่าไม้งาม จังหวัดหนองบัวลำภู