Friday, 22 November 2024 - 7 : 27 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

เคาะ 4 มาตรการอุ้มราคาข้าว-แจกไร่ละ 1 พันบาท

นบข.เคาะ 4 มาตรการ รักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2566/2567 วงเงินเกือบ 7 หมื่นล้านบาท ลุยจ่ายเงินไร่ละ 1,000 บาท ช่วยชาวนา เป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน เริ่ม พ.ย.2566 นี้

เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2566- นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) มีมติเห็นชอบ 4 มาตรการ รักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก และช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ปีการผลิต 2566/2567 วงเงิน 69,043.03 ล้านบาท หนึ่งในมาตรการจะมีการให้เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ด้วย

รายงานข่าวจากที่ประชุม นบข.แจ้งว่าสำหรับเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท อยู่ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 56,321 ล้านบาท มีเกษตรกรเป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน ช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ มีช่วงเวลาการจ่าย 1 พ.ย.66 – 30 ก.ย.2567

ทั้งนี้การจ่ายเงินนั้นจะเริ่มดำเนินการหลังจากที่ประชุม ครม. และคณะกรรมการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีมติเห็นชอบ และให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2567 ต่อไป โดยคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ ต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2566/67 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ส่วนการจ่ายเงิน กรมส่งเสริมการเกษตร นำข้อมูลรายชื่อเกษตรกรที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเกษตรผู้ปลูกข้าว ปี 2566/67 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งให้ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ เพื่อเริ่มจ่ายเงินให้เกษตรกร โดยธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ บริหารจัดการข้อมูลและโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรตามหลักเกณฑ์ของดครงการ ทั้งนี้ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ ประมวลผล และรายงานการโอนเงินช่วยเหลือให้กรมส่งเสริมการเกษตร และกระทรวงพาณิชย์ ต่อไป

ส่วนมาตรการที่เหลือ 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1. โครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67วงเงิน 10,120 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าวในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและได้ราคาต่ำกว่าตลาด โดยไม่คิดดอกเบี้ยกับเกษตรกร เป้าหมาย 3 ล้านตัน โดยช่วยเหลือ 1,500 บาทต่อตัน ในกรณีเข้าร่วมกับสหกรณ์ สหกรณ์รับ 1,000 บาทต่อตัน เกษตรกรรับ 500 บาทต่อตัน เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1 – 5 เดือน และให้นำออกขายเมื่อข้าวราคาดี

2.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก วงเงิน 2,120 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการดูดซับผลผลิตไว้เป็นระยะเวลา 2 – 6 เดือน โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐที่ผู้ประกอบการค้าข้าวเป็นลูกค้าอยู่ เป้าหมาย 10 ล้านตัน ช่วยดอกเบี้ย 4% เก็บสต๊อก 2 – 6 เดือน

และ 3.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 481 ล้านบาท สำหรับสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก เกษตรกรทั่วไป เป้าหมาย 1 ล้านตัน โดยช่วยดอกเบี้ย 15 เดือน ในอัตรา 3.85% สหกรณ์เสียดอกเบี้ย 1%

© 2021 thairemark.com