เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยกโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ช่วยเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรได้มีแนวทางการเพาะปลูกและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทันสมัยมีขีดความสามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และสนับสนุนให้การเพาะปลูกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่บุกรุกทำลายพื้นที่ป่า ไม่ใช้วิธีการเผา ก้าวสู่เกษตรทันสมัย สร้างอาชีพมั่นคง และเป็นต้นทางการผลิตอาหารที่รับผิดชอบต่อโลก
นายชัชวาล มิ่งขุนทด เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ บ้านท่าขี้เหล็ก อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เล่าว่า เกษตรกรในปัจจุบันต้องมีความรู้ความเข้าใจในเทคนิคและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม และศัตรูพืชส่งผลกระทบทำให้ผลผลิตไม่แน่นอน หลังจากเข้าร่วมโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ของกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครือซีพี ตั้งแต่ปี 2559 บริษัทฯ สนับสนุนการตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินฟรี ช่วยเกษตรกรปรับใช้ปุ๋ยได้อย่างเหมาะสม และใช้วิธีการเตรียมแปลงเพาะปลูกแบบใหม่ ทั้งการไถกลบตอซัง การใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับปรุงดินมีอินทรียวัตถุมากขึ้น รวมถึงวิธีการไถที่ช่วยให้ข้าวโพดหยั่งรากได้ลึกขึ้นและทนแล้งได้ดีกว่าเดิม
นอกจากนี้ การเข้าถึงข้อมูลยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การเพาะปลูกได้ผลดี โดยเกษตรกรในกลุ่มบ้านท่าขี้เหล็กยังใช้ แอปพลิเคชั่น ฟ.ฟาร์ม ที่บริษัทฯ พัฒนาขึ้นใช้ดูข้อมูลพยากรณ์อากาศ ปริมาณน้ำฝน ผ่านมือถือช่วยให้ผู้ปลูกสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้มีประสิทธิภาพ และยังสามารถดูคลิปวิดีโอและคำแนะนำของผู้รู้จากมือถือ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ ในการปรับปรุงการปลูกให้ดียิ่งขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงขึ้น
นายวิเชียร ใกล้สันเทียะ ผู้ปลูกข้าวโพดในเทศบาลตำบลบัลลังก์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เทศบาลตำบลบัลลังก์กว่าร้อยครอบครัว พื้นที่ปลูกกว่า 1 หมื่นไร่ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหลังจากเข้าร่วมโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” เกษตรกรมีความรู้ในการเพาะปลูกสมัยใหม่ รู้จักใช้ข้อมูลปริมาณน้ำฝน และราคารับซื้อที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวโพดได้ผลดี ทั้งแง่ปริมาณและคุณภาพ
เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ลงพื้นที่มาให้คำแนะนำการปลูกข้าวโพด การใส่ปุ๋ย การจัดการกับแมลงศัตรูพืชและโรคที่ได้ผลมากขึ้น และทุกวันนี้ ด้วยเทคโนโลยีสื่อสารที่ก้าวหน้า เกษตรกรยังปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ผ่านทางไลน์ หรือสามารถดูข้อมูลความรู้ต่างๆ รวมทั้งติดตามราคารับซื้อข้าวโพดรายวันได้จากแอปพลิเคชั่น ฟ.ฟาร์ม และที่สำคัญการลงทะเบียนข้าวโพดในระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งปลูกยังช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นใจเรื่องการจำหน่ายผลผลิต และช่วยรับรองว่าเกษตรกรในพื้นที่เทศบาลตำบลบัลลังก์ไม่ได้รุกป่า หรือเผาตอซังหลังเก็บเกี่ยว
นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฎ์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครือซีพี กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนิน โครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ควบคู่กับการนำระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะเล็งเห็นว่า ผลผลิตที่ต่ำ เป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้เกษตรกรบุกรุกป่าเพื่อเพิ่มผลผลิต ดังนั้น การจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจการเพาะปลูกที่ถูกหลักวิชาการ ลดการใช้ปุ๋ยที่สิ้นเปลือง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยให้การเพาะปลูกมีผลผลิตที่สูงขึ้นต้นทุนการผลิตลดลง โครงการฯ เริ่มดำเนินการจัดอบรมกลุ่มเกษตรกรกลุ่มแรกในพื้นที่ตำบลวังไทร อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา จนถึงปัจจุบัน โครงการสามารถขยายไปสู่เกษตรกรในอีกกว่า 20 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวโพดที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องกว่าสองแสนไร่ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังนำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมเข้ามาติดตามการเผาหลังเก็บเกี่ยว พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ให้ความรู้แก่เกษตรกรและใช้วิธีไถกลบแทน
ในปีนี้ โครงการฯ จะขยายความร่วมมือกับกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ โดยเข้าไปถ่ายทอดและแบ่งปันความรู้ความเข้าใจ มุ่งเน้นการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเพาะปลูก เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและสร้างความยั่งยืนในการผลิตสินค้าทางการเกษตรที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม./