ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน เกษตรกรภาคปศุสัตว์ทยอยออกมาส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ไล่มาตั้งแต่ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคกลาง พเยาว์ อริกุล ระบุว่าต้นทุนการผลิตไข่ไก่สูงสูงกว่าช่วงปกติถึง 30% จากราคาธัญพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งสูงขึ้นอย่างมากและยืนแข็งในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง ด้านผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ ก็ระบุชัดเจนว่าฟาร์มเลี้ยงสุกรกำลังเผชิญปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่แพงขึ้นมาก
ถัดมาไม่นาน ดร.ฉวีวรรณ คำพา สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ต้นทุนการเลี้ยงไก่เพิ่มรอบด้าน อาจแบกต่อไม่ไหว หากรัฐไม่แก้ไขราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์- ค่าไฟ- ค่าแรง ด้าน สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ วีระพงษ์ ปัญจวัฒนกุล ก็กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาลควรช่วยเหลือดูแลเรื่องราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ อยากให้เห็นใจคนเลี้ยงไก่ด้วย ไม่ใช่ดูแลเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ ขณะที่ อำพล แสนนา เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไข่ จ.ขอนแก่น ก็ยืนยันว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้วัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์แพงขึ้น และช่วงที่ผ่านมารัฐบาลขึ้นค่าไฟฟ้า จึงทำให้ค่าอาหารสัตว์ปรับราคาสูงขึ้นและยังมีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่อง กระทบต้นทุนไข่เป็ด ล่าสุด เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในภาคใต้ ย้ำว่าปัญหาหมูเถื่อนทำให้ต้องยืดระยะเวลาการเลี้ยงสุกรและต้องใช้อาหารมากขึ้น ซึ่งวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์มีราคาสูงขึ้นทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นกากถั่วเหลือง ข้าวโพด ปลาป่น หรือ ปลายข้าว กระทบต้นทุนการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สะท้อนให้เห็นว่า “ปัญหาร่วม” ของเกษตรกรภาคปศุสัตว์ทั่วประเทศ ที่กำลังเผชิญอยู่คือ 1.) ปัญหาต้นทุนการผลิต ที่มีสาเหตุหลักมาจาก “วัตถุดิบอาหารสัตว์” ราคาพุ่งสูงขึ้นทุกชนิด 2.) ราคาขายผลผลิตที่ไม่สามารถขยับให้สอดคล้องกับต้นทุน คนเลี้ยงสัตว์จึงเหมือนเป็นอาชีพที่ถูกบีบคั้นกดดันจาก “ภาครํฐ” ที่อ้างว่าต้องการดูแล “เกษตรกรพืชไร่” ที่ต้นทาง และดูแล “ผู้บริโภค” ที่ปลายทาง … การถูกบีบเป็นไส้แซนวิชอยู่ตรงกลางเช่นนี้ นับว่าน่าเห็นใจอย่างยิ่ง
ปัญหาข้อแรก : ต้นทุนการผลิตจากวัตถุดิบราคาแพง
ดังที่เกษตรกรทุกคนกล่าวแล้วข้างต้น ราคาวัตถุดิบเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์สูงขึ้น เนื่องจากอาหารมีสัดส่วนในต้นทุนถึง 60-70% โดยราคาวัตถุดิบแต่ละชนิดพุ่งสูงขึ้นมาก เช่น ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 10.05 บาท/กก. ปี 2565 ขยับขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ 12.34 บาท/กก. ส่วนราคาข้าวสาลี ปี 2564 ราคาเฉลี่ย 8.94 บาท /กก. และ ปี 2565 ราคาเฉลี่ยพุ่งขึ้นสูงมาก มาอยู่ที่ 14.17 บาท / กก.
ในแต่ละปีประเทศไทยต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ราว 8 ล้านตัน แต่ในไทยปลูกข้าวโพดได้เพียง 5 ล้านตัน จึงขาดแคลนถึง 3 ล้านตันซึ่งต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ ปัญหาอยู่ตรงที่ราคาข้าวโพดนี่ล่ะ รู้หรือไม่ว่าข้าวโพดในประเทศไทยนั้นแพงกว่าข้าวโพดจากต่างประเทศมาก เช่น ปัจจุบัน ราคาข้าวโพดไทยอยู่ที่ 13.65 บาท/กก. ขณะที่ข้าวโพดในตลาดโลก ราคาเพียง 9.10 บาท/กก. เท่านั้น ซึ่งมีสาเหตุจาก นโยบายรัฐ ที่ไม่เอื้อต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ แต่กลับสร้างปัญหาให้ต้นทุนการผลิตสัตว์ของไทยสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น
สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า จึงเสนอทางออกให้รัฐแก้ปมปัญหาข้าวโพดอย่างเร่งด่วนใน 2 หัวข้อ คือ 1.) เปิดให้นำเข้าเสรีข้าวโพด 3 ล้านตัน ทดแทนส่วนที่ขาดในประเทศ และ 2.) ยกเลิกมาตรการ 3:1 ที่เป็นอุปสรรคซ้ำเติมต้นทุนการผลิตสัตว์ และส่งผลต่อราคาสินค้าให้ผู้บริโภคต้องแบกรับ
ส่วน กากถั่วเหลือง อีกหนึ่งวัตถุดิบสำคัญที่ นโยบายรัฐกำลังทำร้ายเกษตรกรคนเลี้ยงสัตว์ ด้วยการเก็บภาษีนำเข้า 2% จากวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือโรงสกัดน้ำมันถั่วเหลืองในประเทศให้ได้ประโยชน์จากการขายกากถั่วเหลืองราคาสูงให้โรงงานอาหารสัตว์ แต่ในสถานการณ์ที่คนเลี้ยงสัตว์กำลังย่ำแย่จากต้นทุนวัตถุดิบแพงเช่นนี้ รัฐควรยกเลิกภาษีดังกล่าวทันที ซึ่งจะไม่กระทบโรงงานน้ำมันพืช เพราะข้อบังคับให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องซื้อกากถั่วเหลืองจากในประเทศให้หมดนั้นยังคงอยู่เช่นเดิม
ปัญหาข้อที่ 2 : ราคาขายผลผลิตเนื้อสัตว์ไม่สอดคล้องต้นทุน
เมื่อต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เกษตรกรควรที่จะสามารถขายผลผลิตที่ได้ในราคาที่สอดคล้องต้นทุน และมีกำไรพอที่จะดำเนินกิจการฟาร์มของตนต่อไปได้ เพราะไม่มีธุรกิจใดอยู่รอดหากถูกควบคุมให้ขายในราคาที่ไม่คุ้มทุน การลดแรงบีบคั้นเกษตรกรคนเลี้ยงสัตว์ในขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบมีราคาสูง โดยปล่อยให้ราคาผลผลิตเป็นไปตามกลไกตลาด จะช่วยผ่อนคลายให้พวกเขาสามารถต่อลมหายใจและมีแรงพอที่จะพยุงฟาร์มของตนต่อไป หากถูกกดดันทั้งขึ้นทั้งล่อง ย่อมไปต่อไม่ไหว เมื่อเกษตรกรล้มเลิกกิจการกันหมดจะเหลือใครเลี้ยงสัตว์ผลิตอาหารให้คนกิน เมื่อนั้นผลผลิตขาดแคลนหนัก เนื้อสัตว์กลายเป็นของหายาก คงไม่ต้องพูดถึงราคาที่ผู้บริโภคอย่างเราต้องจ่ายว่ามันจะสูงลิ่วขนาดไหน สุดท้ายก็คือการบั่นทอนความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ซึ่งเลวร้ายที่สุดอย่างไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น
การให้ความสำคัญกับห่วงโซ่การผลิตอาหารตลอดทั้งสายการผลิตอย่างเป็นธรรม จะทำให้ทั้งองคาพยพเดินหน้าไปด้วยกันได้ทั้งระบบ เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติ ยิ่งเมื่อพบว่า “นโยบายรัฐ” เป็นต้นเหตุของปัญหา ผู้มีอำนาจยิ่งต้องเร่งแก้ไขในทันที ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นดินพอกหางหมู และบานปลายจนอาจจะยากเกินเยียวยาเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้
โดย… ลักขณา นิราวัลย์