นายธีรณัฐ รุ่งสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เอนโท ฟู้ด จำกัด 1 ในบริษัทสัญชาติไทยที่ตั้งโรงงานแปรรูปผงโปรตีนและทำเป็น “ฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด” ครบวงจร แจ้งเกิดในเวทีแห่งกระแสโลกครั้งนี้ และถือเป็น “ฟู้ดเทค สตาร์ตอัพ” รายแรกของไทย เปิดเผยว่า หลังจากการร่วมทุนกับบริษัท ไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ล จำกัด (มหาชน)” หรือ TSTE ได้เสริมศักยภาพให้เพื่อก้าวสู่ผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตโปรตีนจิ้งหรีดของประเทศไทย
ทั้งนี้ ในช่วงแรก บริษัทตั้งเป้าสร้างและขยายตลาดโปรตีนจิ้งหรีดในต่างประเทศให้แข็งแกร่ง โดยใช้นวัตกรรมการผลิตเพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าสู่อุตสาหกรรมอาหารในเวทีโลก ซึ่งจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโปรตีนจิ้งหรีดของโลก และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ภาคเกษตรกร ชุมชน สังคม และประเทศ ตั้งเป้ารายได้ 250 ล้านบาท ในปี 2566 และก้าวสู่ระดับ 1,000 ล้านบาท ในปี 2568 แบ่งเป็นสัดส่วนการขายในประเทศ 30% และต่างประเทศ 70%
โดยไทย เอนโทฯ ได้นำ Isec Technology มาใช้เป็นเทคโนโลยีการแปรรูปผงโปรตีนจิ้งหรีดในระดับอุตสาหกรรมรายแรกของเอเซีย เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเฉพาะ โดย Isec Technology ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทลดลงกว่า 30% เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการผลิต พลังงานและแรงงานน้อยลง และด้วยนวัตกรรมและกระบวนการผลิตทันสมัยที่สุดในเอเชีย โดยมีกำลังการผลิตผงโปรตีนจิ้งหรีดสูงสุดกว่า 1,200 ตันต่อปี ด้วยกำลังการผลิตผงโปรตีนจิ้งหรีด 4 ตันต่อวัน และสามารถ scale up ได้ 10 เท่าภายใน 1 ปี ทำให้ Thai Ento เป็นผู้ผลิตผงโปรตีนจิ้งหรีดในระดับอุตสาหกรรมรายแรกของประเทศ
ทั้งนี้ จากกระแสโลก “จิ้งหรีด” กลายเป็นแหล่งโปรตีนมาแรงแห่งยุค และได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐอย่างจริงจังต่อเนื่อง ล่าสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดัน “จิ้งหรีดไทย” สู่ตลาดโปรตีนแห่งใหม่ในอนาคตากจำนวนประชากรที่กำลังทยานขึ้น FAO จึงแนะนำให้แมลงเป็นอาหารโปรตีนสำรองในอนาคต หรือที่เรียกว่า Novel Food เนื่องจากมีราคาถูก แมลงจึงกลายเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่กำลังจะเข้ามาทดแทนเนื้อสัตว์
จิ้งหรีด เป็นแมลงที่มีการนำมาเพาะเลี้ยงเชิงการค้าเพื่อการส่งออกมาตั้งแต่ปี 2555 นิยมเพาะเลี้ยงกันมากในเขตภาคเหนือ ได้แก่ จ.แพร่ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.หนองบัวลำภู จ.เลย จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.อุดรธานี จ.ร้อยเอ็ด ภาคตะวันออก ได้แก่ จ.สระแก้ว จ.จันทบุรี จังหวัดที่เลี้ยงมากที่สุด คือ จ.เลย
ส่วนพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันมากได้แก่ พันธุ์ทองคำ พันธุ์ทองแดง และพันธุ์สะดิ้ง จัดเป็นธุรกิจการลงทุนที่ใช้พื้นที่น้อย จัดการง่าย ขายได้ราคาดี มีต้นทุนต่อหน่วยเฉลี่ยที่ 41 บาท/กิโลกรัม ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 45-50 วันต่อรุ่น ใน 1 ปี จึงสามารถเลี้ยงได้ถึง 6 รุ่น ราคาขายเฉลี่ยขายหน้าฟาร์มได้ที่กิโลกรัมละประมาณ 80 บาท สร้างรายได้สุทธิหรือผลกำไรได้ 163,464 บาท/ปี จิ้งหรีดจึงกลายเป็นแมลงเศรษฐกิจที่มาแรงภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลและตลาดส่งออกให้การตอบรับดี
การเลี้ยงจิ้งหรีดในขณะนี้ จึงไม่ใช่เลี้ยงไว้เพื่อบริโภคในประเทศเพียงอย่างเดียว หรือเป็นอาชีพเสริมที่เลี้ยงไว้ตามพื้นที่ว่างข้างบ้านเหมือนในอดีตอีกต่อไป เพราะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศให้ได้ถึงปีละกว่า 1,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีประชากรโลกกว่า 2,000 ล้านคนที่บริโภคแมลง ซึ่งชาวตะวันตกให้ความสนใจมากขึ้น เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นี่จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการและเกษตรกรที่จะเดินหน้าปักธงไทยในตลาดโลก