Sunday, 8 December 2024 - 10 : 27 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

กรมประมง ไร้แผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งไทย แต่อนุมัตินำเข้ากุ้งนอก

เกษตรกร สิ้นหวัง “กรมประมง” ไม่คืบหน้าแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้ง ปล่อยเกษตรกรเผชิญโรคระบาด ขาดเงินทุนหมุนเวียน บั่นทอนความสามารถการแข่งขันในเวทีโลก ซ้ำอนุมัติให้ห้องเย็นนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียกว่า 10,000 ตัน ไปแปรรูปสรวมสิทธิ์กุ้งไทยส่งออก ทำลายภาพลักษณ์ผู้ผลิตอาหารมั่นคงและปลอดภัย

การอนุมัตินำเข้ากุ้งครั้งนี้ไม่ได้มีการเปิดเผยแพร่หลายหรือแจ้งแก่สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ กรมประมงเพียงออกประกาศ กำหนดเงื่อนไขการอนุญาตให้นำเข้าซากกุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 โดยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ออกโรงแถลงข่าวยอมรับว่ากรมประมงจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปสามารถนำเข้ากุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดียได้แล้วเป็นเรื่องจริง ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board)

ทั้งนี้ จะนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากต่างประเทศเฉพาะช่วงเวลาและปริมาณผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อย โดยหลังประสบปัญหาการระบาดของโรคตายด่วน (AHPND/EMS) ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยลดลงอย่างมาก เพื่อรักษาศักยภาพการแข่งขันของไทยในเวทีโลก โดยห้องเย็นและโรงงานแปรรูปจะรับซื้อผลผลิตกุ้งทะเลจากเกษตรกรโดยประกันราคาซื้อ–ขายขั้นต่ำ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาของกุ้งทะเลภายในประเทศไว้

นายอักษร ขจรกาญจนกุล ประธานชมรมกุ้งตรังพัฒนา กล่าว การนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียแบบไม่ทันตั้งตัว แม้จะมีการกำหนดเงื่อนไข แต่ไม่ใช่เกษตรกรทั่วประเทศได้ประโยชน์ และมีผลทำให้ราคากุ้งในประเทศลดลง เพราะขณะนี้กุ้งในประเทศราคาดีเนื่องจากผลผลิตน้อย การนำเข้าจึงเป็นการบิดเบือนกลไกราคา และยังเสี่ยงมีความเสี่ยงเรื่องโรคที่ติดมากับกุ้ง รวมถึงเกิดปัญหาคุณภาพความปลอดภัย การปนเปื้อนของสารเคมีต้องห้ามและยาปฏิชีวนะ จะสร้างความเสียหายกับผู้เลี้ยงและห่วงโซ่การผลิต

นอกจากนี้ การนำเข้าวัตถุดิบภายใต้ “คลังสินค้าทัณฑ์บน” (Bonded Warehouse) เป็นการนำวัตถุดิบเข้ามาใช้ผลิตเพื่อการส่งออก 100% และเป็นวัตถุดิบที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและส่งออก แต่เป็นการทำลายภาพลักษณ์กุ้งส่งออกของไทย เพราะที่ผ่านมาสินค้ากุ้งของไทยเป็นการใช้วัตถุดิบในประเทศเกือบ 100% (Local Content) ซึ่งเป็นหลักประกันอาหารปลอดภัยของกุ้งไทยและได้รับการยอมรับในระดับสากล ส่งเสริมให้ไทยเป็นผู้ส่งออกกุ้งชั้นนำของโลกด้านคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมาไทยเคยเป็นผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ที่สุดของโลกมาแล้ว

“อยากให้กรมประมง ให้ความสำคัญกับ เรื่องที่สัญญาไว้กับเกษตรกร คือ การฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลให้มีผลผลิต 400,000 ตัน ในปี 2566 เพื่อทวงแชมป์โลกลับมา เพราะจนถึงขณะนี้เกษตรกรยังไม่รับทราบหรือรับรู้ความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูแต่อย่างไร ที่สำคัญทั้งสองประเทศไม่เคยให้นำเข้ากุ้งจากประเทศไทย ทั้งที่เคยมีการเจรจากัน” นายอักษร กล่าว

นายอักษร กล่าวต่อว่า ผู้เลี้ยงกุ้งเจอปัญหาโรคระบาดมาเป็นเวลานาน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดๆ ออกมาแก้ปัญหา รวมถึงข้อเสนอที่ต้องการให้กรมฯ พัฒนาแนวทางหรือการเลี้ยงที่เหมาะสมกับเกษตรทุกกลุ่มก็ยังไม่เคยมีการนำเสนอ ที่สำคัญเกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษจากแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการปรับโครงสร้างฟาร์ม และโมเดลการเลี้ยงที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

“กรมฯ ควรจริงจังในการขับเคลื่อนเป้าหมายผลิตกุ้ง 400,000 ตัน โดยใช้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมาพัฒนาที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและอนาคตของเกษตรกรเลี้ยงกุ้งไทย ที่มุ่งมั่นพัฒนาการเลี้ยงจนเป็นที่่ยอมรับในระดับโลก ก่อนที่การนำเข้าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำลายห่วงโซ่การผลิตตลอดไป” นายอักษร กล่าวย้ำ

สำหรับคาดการณ์ผลผลิตกุ้งของไทยปี 2565 จะอยู่ที่ 300,000 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 280,000 ตัน ในปี 2564 เนื่องจากปัญหาโรคระบาดกุ้ง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นไม่มาก./

© 2021 thairemark.com