“จุรินทร์ “เผยส่งออกเดือน มี.ค.มูลค่ากสูงสุดรอบ 30 ปี รายได้เข้าประเทศกว่า 922,313 ล้านบาท ขยายตัว 19.5% โต 13 เดือนต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 26 เม.ย.65 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายธีระชาติ ปางวิรุฬรักษ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศและนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศ เดือนมีนาคม 2565 และไตรมาสแรกของปี 2565 ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
นายจุรินทร์ กล่าวว่าตัวเลขการส่งออกเดือนมีนาคม 65 +19.5% มีมูลค่ารวม 922,313 ล้านบาท ถือว่ามูลค่าการส่งออกสูงที่สุดในรอบ 30 ปี นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติการส่งออกตั้งแต่ปี 2534 ดุลการค้า +34,960 ล้านบาท สินค้าสำคัญ 3 หมวดประกอบด้วย1.สินค้าการเกษตร 2.สินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 3.สินค้าอุตสาหกรรม
โดย 1.การส่งออกหมวดสินค้าเกษตร +3.3% มีมูลค่า 69,310 ล้านบาท สินค้าเกษตรสำคัญเช่นข้าว+53.9% ไก่แปรรูป +6.6% มันสำปะหลัง +6.3%
2.หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร +27.7% มีมูลค่ารวม 69,153 ล้านบาท รายการสำคัญ เช่น น้ำมันพืช +350% โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม +768.3% น้ำตาลทราย +204.3% อาหารสัตว์เลี้ยง +15.5% เครื่องปรุงรส +9.7% อาหารทะเลกระป๋องและอาหารทะเลแปรรูป +2%
3.หมวดสินค้าอุตสาหกรรม +20.6% มีมูลค่า 755,312 ล้านบาท รายการสำคัญเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า +71.9% โทรสาร โทรศัพท์ +37.9% อัญมณีและเครื่องประดับ +37.1% คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ +36.9% และสินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมัน +15.5% แผงวงจรไฟฟ้า +11% เครื่องมือแพทย์ +10.6%
สำหรับตลาดที่ขยายตัวสูง 10 อันดับแรกประกอบด้วย 1.สวิตเซอร์แลนด์ +2,864.7% 2.เอเชียใต้ +36.4% 3.อาเซียน +34.8% 4.ตะวันออกกลาง +29.5% 5.สหรัฐฯ +21.5% 6.สหราชอาณาจักร +14.5% 7.เกาหลีใต้ + 14.5% 8.ไต้หวัน +9.4% 9.แคนาดา +9.2% 10.สหภาพยุโรป +6.9% ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกไตรมาสแรกของปี 65 ม.ค.-มี.ค.เป็น +14.9% มีมูลค่า 2,401,444 ล้านบาท หรือเป็นบวกประมาณ 15% มูลค่า 2.4 ล้านล้านบาท
โดยปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยสนับหนุนตัวเลขการส่งออกเพิ่มขึ้นในภาพรวมประกอบด้วย 1.การส่งเสริมผ่านนโยบายซอฟพาวเวอร์ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ผลักดัน 4 กลุ่มสินค้าสำคัญ คือ อาหาร ดิจิทัลคอนเทนต์ สุขภาพความงามและสินค้าที่มีจุดขายเป็นอัตลักษณ์ของไทย โดยในครึ่งปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 กระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยด้าน Soft Power ไปแล้วทั้งอบรมให้ความรู้และช่วยเหลือให้การส่งออกบรรลุผลจำนวน 1,878 ราย
2.การจัดทำมาตรการเชิงรุกด้านการบริหารจัดการผลไม้ มีผลทำให้ตัวเลขการส่งออกในภาพรวมเป็นบวก โดยเฉพาะตลาดจีนซึ่งมีการเจรจากับด่านต่างๆในการส่งออกทางบก และวันนี้มีข่าวดีด่านส่งออกผลไม้ไทยไปจีนที่ประกอบด้วย 4 ด่านหลักคือ ด่านโม่ฮาน ด่านโหย่วอี้กวาน ด่านผิงเสียงและด่านตงซิง ที่ด่านตงซิงได้ปิดมาระยะหนึ่ง วันนี้ได้มีการเปิดด่านตงซิงแล้ว จะเป็นปัจจัยช่วยให้การส่งผลไม้ไทยไปจีนทางบกคล่องตัวขึ้น นอกจากนั้น การส่งออกทางเรือข้อเรื่องการขาดแคลนตู้เริ่มคลี่คลาย และมอบหมายให้ทูตพาณิชย์กับทูตเกษตร และกระทรวงการต่างประเทศประสานกับทางการจีน มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกที่ท่าเรือตอนใต้ของจีนอย่างน้อย 3 ท่า คล่องตัวขึ้นทำให้ตัวเลขการส่งออกทางเรือเพิ่มขึ้น และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ช่วยเจรจากับการท่าอากาศยาน สายการบินและผู้ส่งออก เจรจาเรื่องค่าขนส่งและการจองสายการบินซึ่งประสบความสำเร็จในช่วงที่ผลไม้เริ่มออกต้นปีที่ผ่านมา จากนี้จะเดินหน้าอย่างเข้มข้นและมีแผนที่ชัดเจนต่อไป
3.การผลักดันการค้าชายแดนซึ่งได้เร่งรัดการเปิดด่านมาโดยตลอด ล่าสุดจะยกระดับจุดผ่อนปรนการค้าห้วยต้นนุ่น เป็นจุดผ่านแดนถาวรที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน คาดว่าจะมีส่วนช่วยทำให้มูลค่าการค้าชายแดนไทยเมียนมาเกิดขึ้นต่อไป 4.ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต(Purchasing Managers Index หรือ PMI)ยังอยู่ในระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 โดยเฉพาะดัชนี PMI ของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป เกาหลีใต้ออสเตรเลีย อาเซียน ยังอยู่ในระดับ 50 โอกาสที่จะซื้อสินค้าจากประเทศไทยมีมากขึ้นตามไปด้วย 5.อัตราค่าระวางเรือจากไทยไปยุโรป เริ่มลดลงในขณะที่บางเส้นทางไม่เพิ่มขึ้น จะเป็นตัวช่วยอีกตัวหนึ่ง 6.ค่าเงินบาทอ่อนค่า มีส่วนช่วยทำให้การส่งออกการแข่งขันในตลาดโลกแข่งขันได้มากขึ้น