Tuesday, 15 July 2025 - 7 : 49 pm
68.06.09-ส่งเว็บremark-320x100px_CREai
OIC_001
data-no-lazy="1"
68.06.09-ส่งเว็บremark-320x100px_CREai
OIC_001

“ธีรรัตน์” ตอบกระทู้ถามวุฒิสมาชิก ประเด็น “การแจ้งเตือนสาธารณภัย”

“ธีรรัตน์” ตอบกระทู้ถามวุฒิสมาชิก ประเด็น “การแจ้งเตือนสาธารณภัย” ย้ำ รัฐบาลมุ่งพัฒนาระบบการเตือนภัยควบคู่การซักซ้อมเพื่อป้องกันภัยด้วยการบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และลดความสูญเสียของประชาชน

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบกระทู้ถามของ นาวาตรี วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สมาชิกวุฒิสภา เรื่อง การดำเนินการระบบเตือนภัยเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ในการประชุมวุฒิสภา ณ ห้องประชุมวุฒิสภา อาคารรัฐสภา ถ.สามเสน กรุงเทพฯ

นางสาวธีรรัตน์ กล่าวว่า ในปัจจุบันวิกฤตจากภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมีความถี่และรุนแรงเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลกเกิดความผันผวนปวนแปรในอัตราที่สูงมาก ดังเช่นปลายปี 2567 ที่ประเทศไทยเผชิญกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและบริหารจัดการระบบเตือนภัยซึ่งได้ติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะเพียงภัยธรรมชาติแต่ยังรวมถึงเหตุฉุกเฉินทั้งจากธรรมชาติหรือมนุษย์ที่ต้องแจ้งเตือนให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเองและมีความพร้อมอยู่เสมอ

“กระทรวงมหาดไทยโดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้มีการเฝ้าระวังสาธารณภัยตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลความเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เกิดภัยและแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้พร้อมรับมือกับสาธารณภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในทุกช่องทางการสื่อสาร ทั้งการออกหนังสือโทรสารแจ้งเตือนจากกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในทันทีเมื่อทราบข้อมูลจากการวิเคราะห์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการใช้ระบบวิทยุทรานซิสเตอร์ ทั้ง AM FM ซึ่งการสื่อสารข้อมูลที่ครบถ้วนตรงประเด็นและถูกต้องที่สุดจากส่วนกลาง จะช่วยลดความสับสนของประชาชนที่ต้องเผชิญกับปัญหาข่าวปลอม Fake news ที่มักเกิดขึ้นในช่วงเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน”

ในเรื่องอุปกรณ์เตือนภัยปัจจุบันมีจำนวน 516 แห่ง ได้แก่ หอเตือนภัย 353 แห่ง และเครื่องมือรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม 163 แห่ง ซึ่งติดตั้งอยู่ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยทุกจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการส่งข้อความแจ้งเตือน ทั้งระบบ SMS ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อกระจายข้อมูลไปยังช่องทางอื่น หอกระจายข่าวหมู่บ้าน เสียงตามสายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การส่งข้อความผ่านกลุ่ม Line ต่าง ๆ และแอปฯ Thai Disaster Alert แอปฯ ทางรัฐ ซึ่งมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง รวมถึงระบบ Cell Broadcast ที่ได้มีการทดสอบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 และในห้วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งจากการทดสอบได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ระบบมาตรฐานเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก และจะสมบูรณ์ทั้งระบบภายในเดือนกรกฎาคม 2568 นี้ ทั้งนี้ เราต้องอาศัยช่องทางการเตือนภัยหลาย ๆ ช่องทางร่วมกัน เพื่อให้การเตือนภัยมีประสิทธิภาพซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมและลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้

นางสาวธีรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเรื่องการฝึกซ้อมสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อซักซ้อมในเรื่องของการรับมือภัยสึนามิ หลังจากเกิดสึนามิเมื่อเดือนธันวาคมปี 2547 หรือเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งในทุกวันนี้ พี่น้องประชาชนทุกคนก็ยังคงมีความกังวลใจว่าจะเกิดขึ้นซ้ำหรือไม่ แต่เรื่องการเตรียมพร้อมและรับมือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะภัยเราห้ามไม่ได้ จึงต้องมีการฝึกซ้อมในทุกปี ด้วยการรวบรวมทุกภาคีเครือข่ายทั้งท้องถิ่น องค์กรนานาชาติ เอกอัครราชทูต กงสุลจากประเทศต่าง ๆ มารับทราบและเตรียมพร้อมรับมือ โดยมีการฝึกร่วมกับอาสาสมัครในพื้นที่ หน่วยกู้ภัยต่าง ๆ ที่มีบทบาท มีเครื่องมือ มีความพร้อม ซึ่งเรามีการฝึกซ้อมจริงทั้ง 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน คือ ระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต ตรัง และสตูล โดยมีประชาชน นักเรียน ร่วมฝึกซ้อมเสมือนจริง และเมื่อเราบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมกันฝึกซ้อมภัยในทุก ๆ สาธารณภัยเฉกเช่นการฝึกซ้อมสึนามินี้ ถ้าหากเกิดเหตุจริงก็จะทำให้การปฏิบัติการมีความราบรื่นมากยิ่งขึ้น เพราะเรื่องการฝึกซ้อมเป็นสิ่งสำคัญที่เราสามารถลดความรุนแรงและความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยพิบัติได้

© 2021 thairemark.com