Saturday, 5 July 2025 - 4 : 15 pm
68.06.09-ส่งเว็บremark-320x100px_CREai
OIC_001
data-no-lazy="1"
68.06.09-ส่งเว็บremark-320x100px_CREai
OIC_001

“อรรษิษฐ์”นำทีมมหาดไทยร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและช่วยเหลือผู้ประสบภัย

“อรรษิษฐ์” นำทีมมหาดไทยร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมยืนยัน ย้ำ กลไกมหาดไทยทุกระดับพร้อมดูแลช่วยเหลือประชาชนและบริหารจัดการสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
.
วันนี้ (2 ก.ค. 68) เวลา 10.00 น. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยมี นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้แทนหน่วยงาน รวม 24 หน่วยงาน ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะชั้น 3 อาคาร 99 ปี ม.ล.ชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถ.สามเสน กรุงเทพฯ และประชุมผ่านระบบ Video Conference
.
นายประเสริฐ เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและติดตามสถานการณ์ฝนตกหนักที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของวันนี้ที่เป็นการประชุมเพื่อบูรณาการร่วมกันในการบริหารจัดการรับมืออุทกภัยจากสถานการณ์ฝนตกหนักที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม เพื่อลดความวิตกกังวลของพี่น้องประชาชนที่กำลังมีความไม่สบายใจไม่น้อย โดย จึงเป็นที่มาของการเชิญหน่วยงานและจังหวัดที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ และเตรียมความพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง
.
นายอรรษิษฐ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อนการบริการจัดการสาธารณภัยเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติร่วมกันในลักษณะครบวงจร ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดภัย ได้แก่ “ก่อนเกิดภัย” โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดทำแผนเผชิญเหตุและมีการซักซ้อมแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast รวมถึงความพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลต่าง ๆ ขณะเดียวกันและในพื้นที่ก็มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีข้อมูลทรัพยากรองคาพยพทั้งรถ เครื่องจักรกล บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการรับมือ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดสรรงบประมาณอุดหนุนเพื่อปรับปรุง ก่อสร้าง และพัฒนาแหล่งเก็บน้ำทั่วประเทศ รวมถึงกรมโยธาธิการและผังเมือง ติดตามความมั่นคงแข็งแรงของพนังกันน้ำ ทำนบต่าง ๆ ของพื้นที่ชุมชน รวม 249 โครงการ และให้คำแนะนำ อปท. ซ่อมแหล่งกักเก็บน้ำที่มีความชำรุดเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่ถ้าชำรุดมาก กรมโยธาธิการและผังเมืองจะเป็นหน่วยดำเนินการ พร้อมทั้งได้มีการเร่งจัดเก็บผักตบชวาในแหล่งน้ำทั่วประเทศเพื่อให้การระบายน้ำคล่องตัวอีกด้วย “ขณะเกิดภัย” ทุกพื้นที่จะดำเนินมาตรการช่วยเหลือตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ทั้งการอพยพพี่น้องประชาชนพื้นที่เสี่ยง การจัดตั้งศูนย์พักพิงตามมาตรฐานสุขอนามัย การจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ การประกอบอาหารเลี้ยง และอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และการเยียวยา “หลังเกิดภัย” โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องที่ สำรวจความเสียหาย เพื่อใช้งบประมาณเยียวยาตามระเบียบและกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ กลไกกระทรวงมหาดไทยทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ ท้องที่ ท้องถิ่น พร้อมในการบูรณาการภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ในการดูแลพี่น้องประชาชนคนไทยในทุกสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
.
นายภาสกร กล่าวว่า การแจ้งเตือนสถานการณ์อุทกภัย แผ่นดินไหว และภัยพิบัติต่าง ๆ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสาธารณภัย 7 ภัย ได้แก่ แผ่นดินไหว สึนามิ พายุหมุนเขตร้อน อุทกภัย ดินโคลนถล่ม ภัยหนาว และภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ตลอด 24 ชั่วโมง และแบ่งการดำเนินการเป็น 3 ส่วน คือ 1. การรับข้อมูล 2. วิเคราะห์ข้อมูล 3. กระจายข้อมูล โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีเครื่องมือตรวจวัดปัจจัยความเสี่ยงจากสาธารณภัย ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญในรูปแบบห้องปฏิบัติการ War room เพื่อประเมินโอกาสการเกิดสาธารณภัย ระดับความรุนแรง และพื้นที่เสี่ยงเกิดสาธารณภัยต่าง ๆ เพื่อกระจายข้อมูลเตือนภัยในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การรายงานข่าว การแจ้งเตือนผ่านหอกระจายข่าว ทั้งนี้ หากประเมินแล้วว่าจำเป็นต้องแจ้งเตือนไปยังพี่น้องประชาชน จะใช้ระบบ Cell Broadcast ซึ่งจะแล้วเสร็จโดยสมบูรณ์ทั้งระบบภายในเดือนกรกฎาคมนี้ และสำหรับกรณีสึนามิ กรมฯ มีทุ่นวัด 2 ตัว ตัวแรกในมหาสมุทรอินเดีย ห่างฝั่ง จ.ภูเก็ต 965 กิโลเมตร โดยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และออสเตรเลีย หากประเมินแล้วว่าจะเกิดสึนาม ทุ่นตัวที่สอง บริเวณทะเลอันดามัน จะส่งสัญญาณ เพื่อกดปุ่มแจ้งเตือนภัย โดยหอเตือนภัย 129 หอ ทุกจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน
.
การประชุมในวันนี้ นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายสมภพ สมิตะสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร และนายนคร ศิริปริญญานันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ได้รายงานสถานการณ์รวมถึงมาตรการการบริหารจัดการภัย เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มกำลังความสามารถ
.
ในช่วงท้าย นายประเสริฐ ได้มอบแนวทางและนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ 4 เรื่อง คือ
.

  1. การเตือนภัย 1.1 ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติจัดตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า” โดยกรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และ GISTDA ร่วมกันติดตามการคาดการณ์ก่อตัวของพายุหรือสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งมีระบบพยากรณ์อากาศล่วงหน้าในแต่ละพื้นที่และสามารถประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในเรื่องของอุทกภัย และควรจะมีการออกประกาศคำเตือนล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 วันเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที และให้มีการตรวจสอบระบบเตือนภัยว่ามีการพร้อมใช้งานและเตรียมระบบสำรองความถี่ที่มีความจำเป็นหากระบบหลักไม่สามารถใช้การได้ 1.2 ให้กรมป้องกันและบรรเทาอากาศสาธารณภัยเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและประสานจังหวัดในการแจ้งเตือนภัย 1.3 ให้กรมทรัพยากรธรณี ติดตามและประเมินสถานการณ์กรณีธรณีพิบัติภัย ดินถล่มแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่อง และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการสื่อสารสร้างการรับรู้กับประชาชนในพื้นที่ และเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที
    .
  2. การเตรียมพื้นที่รับมือภัยพิบัติ 2.1 ให้จังหวัดสำรวจเร่งรัดการรื้อสิ่งปลูกสร้างที่ขวางลำน้ำพร้อมประสานงานหน่วยงานกองบัญชาการทหารพัฒนาเพื่อบูรณาการการขุดลอกแม่น้ำสายต่าง ๆ 2.2 ให้กองทัพบก กองทัพเรือ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สนับสนุนกำลังพล อากาศยาน เครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องจักรกลหนัก รถยนต์ เรือ และอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าพื้นที่ได้ทันท่วงที 2.3 ให้กรมชลประทานตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างเกี่ยวกับน้ำให้พร้อมใช้งานและสนับสนุนทรัพยากรในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น เครื่องสูบน้ำและเรือตรวจการณ์ต่าง ๆ 2.4 ให้จังหวัดจัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สาธารณภัยจังหวัด” ไว้เป็นการล่วงหน้า และทำความเข้าใจกับหน่วยงานในพื้นที่แต่ละจังหวัด และจัดเตรียมพื้นที่ สถานที่สำหรับการอพยพประชาชนมายังที่ปลอดภัยและตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว และเตรียมสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีพ เช่น น้ำ อาหารแห้ง เครื่องดื่ม การจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน หน่วยรักษาพยาบาลไว้ หากเกิดภัยพิบัติ 2.5 ให้จังหวัดและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดเตรียมสถานที่ประสานงานกับมูลนิธิต่าง ๆ จิตอาสา ที่เข้ามาเพื่ออำนวยความสะดวกให้สามารถสนับสนุนและปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.6 ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองก่อสร้างพนังกันน้ำริมตลิ่งระดับวิกฤตตามแผนป้องกันระดับกลางโดยเร็ว 2.7 ให้หน่วยที่เกี่ยวข้องใช้กลไกประสานงานกับเมียนมา ลดผลกระทบปัญหาสารเคมีปนเปื้อนในน้ำจากการเปิดเหมืองและแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด
    .
  3. การประชาสัมพันธ์ 3.1 ให้จังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทบทวนแผนปฏิบัติการการสื่อสารประชาสัมพันธ์ การให้ข้อมูลผ่านระบบ Cell Broadcast โดยร่วมมือแจ้งเตือนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเตือนภัยประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างทันท่วงทีและได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อลดความซ้ำซ้อนและป้องกันการเกิดข่าวปลอม และการประสานงานภายใน การมีอาสาสมัครแจ้งเตือนภายในพื้นที่ 3.2 ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกรมทรัพยากรธรณีเผยแพร่การรับรู้การจัดการภัยกับประชาชนให้ทราบอย่างต่อเนื่องและแนวทางปฏิบัติให้มีความถูกต้องและสร้างช่องทางการรับรู้ โดยทางฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัครต่าง ๆ เพื่อจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน
    .
  4. การฟื้นฟูและช่วยเหลือเยียวยา โดย 4.1 ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับจังหวัดจัดทำข้อมูลสำรวจพื้นที่ อาคารบ้านเรือน ทรัพย์สินปนะชาชน และเร่งรัดการเยียวยา เพื่อลดปัญหาความซ้ำซ้อนและความไม่เข้าใจกัน 4.2 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการและบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องพร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ตามแผนเผชิญเหตุด้านการช่วยเหลือและพยาบาลบรรเทาทุกข์โดยเฉพาะพื้นที่บนดอยหรือพื้นที่ห่างไกลจากชุมชน
    .
    กองสารนิเทศ สป.มท.
    ครั้งที่ 346/2568
    วันที่ 2 ก.ค. 2568
© 2021 thairemark.com