Thursday, 24 April 2025 - 4 : 36 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

ปราบบุหรี่เถื่อนด้วยมาตรการภาษี–โครงสร้างอัตราเดียวคือทางออก

“จับบุหรี่เถื่อนข้ามชายแดน!” “ทลายโกดังบุหรี่เถื่อนล็อตใหญ่!” “ร้านโชห่วยโอดบุหรี่เถื่อนทำพิษ” “บุหรี่ปลอม-บุหรี่ไฟฟ้าระบาดโรงเรียน!” “ทลายแก๊งค้าบุหรีเถื่อนผ่านออนไลน์” “เด็กประถมสูบบุหรี่ไฟฟ้า ปอดหาย เจอร้านขายอยู่หน้าโรงเรียน” – คนไทยเห็นข่าวทำนองนี้ซ้ำๆ ในช่วงหลายปีมานี้ และกลายเป็นข่าวดังในช่วงเดือนที่ผ่านมา เคยสงสัยไหมว่าทำไมสถานการณ์บุหรี่เถื่อนยังไม่ดีขึ้นเสียที มีแต่ทรงกับทรุด

วันนี้ที่บุหรี่เถื่อนและบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นของผิดกฎหมายล้นประเทศขายกันทั่วทั้งหน้าร้านและทางออนไลน์ ผู้สูบทุกเพศทุกวัยเต็มใจซื้อหามาสูบเพราะเห็นแก่ของถูกไม่สนใจกฎหมาย ส่วนหน่วยงานรัฐตั้งหน้าตั้งตาปราบอย่างไม่จบสิ้นแต่ก็น่าจะเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ กรรมตกกับร้านโชห่วยและร้านที่มีใบอนุญาตขายบุหรี่ทั่วประเทศได้รับผลกระทบ การยาสูบแห่งประเทศไทยยอดขายร่วง เกษตรกรไทยขายใบยาสูบได้น้อยลงและราคาตก รัฐบาลเก็บภาษีได้ลดลงแถมต้องหางบช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร ยิ่งไปกว่านั้น คนสูบก็เผชิญกับภาวะปอดพังกว่าเดิมจากบุหรี่ปลอม บุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าด้อยคุณภาพ ในสมการนี้ไม่มีใครได้ประโยชน์เลยนอกจากผู้ผลิตและผู้ค้าบุหรี่เถื่อน!

เราจะแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อนยังไงดี?

โครงสร้างภาษียาสูบไทย – ต้นตอปัญหาบุหรี่เถื่อน

ก่อนอื่นเลยเราต้องยอมรับกันว่า ต้นตอของบุหรี่เถื่อนในบ้านเรานั้นมาจากโครงสร้างภาษียาสูบ พูดง่ายๆ ก็คือ ทุกวันนี้ประเทศไทยเก็บภาษีบุหรี่ในอัตราสูงและซับซ้อน ทำให้บุหรี่ถูกกฎหมายมีราคาแพง คนซื้อไม่ไหว หันไปซื้อบุหรี่เถื่อนซึ่งขายถูกกว่าเป็นเท่าตัวและหาซื้อได้ง่าย ไม่จำกัดวัยผู้ซื้อ แต่มีอันตรายต่อสุขภาพมากกว่า สร้างงานสร้างอาชีพสร้างกำไรให้ผู้ลักลอบค้าบุหรี่เถื่อนและบุหรี่ไฟฟ้าเป็นกอบเป็นกำ 

ย้อนกลับไปก่อนปีพ.ศ. 2560 กรมสรรพสามิตเก็บภาษียาสูบอัตราเดียวจากผู้ผลิตและผู้นำเข้า โดยดูว่าระหว่าง “ภาษีตามมูลค่า” และ “ภาษีตามปริมาณ” ตัวไหนแพงกว่าก็เก็บตัวนั้น

 ต่อมา วันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2560 กรมสรรพสามิตได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษียาสูบ เป็นการเรียกเก็บทั้งสองอัตรา ทั้ง “ภาษีตามมูลค่า” และ “ภาษีตามปริมาณ” แล้วยังเปลี่ยนฐานในการคำนวณภาษีสรรพสามิตให้สูงขึ้นด้วยโดยใช้ราคาขายปลีกไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หวังว่าเมื่อราคาบุหรี่แพงขึ้นแล้วจำนวนคนสูบจะน้อยลง รัฐจะเก็บภาษีได้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษี earmarked และผู้ผลิตยาสูบของไทยจะแข่งกับบุหรี่นำเข้าได้มากขึ้น

ต่อมาอีกครั้ง เดือนตุลาคม พ.ศ.2564 กรมสรรพสามิตปรับขึ้นภาษียาสูบ ทิ้งทวนก่อนที่จะเดินหน้าปรับโครงสร้างภาษียาสูบให้เป็นอัตราเดียวในอนาคตตามแผนที่ตั้งไว้เดิมหากแต่รอให้ผู้ประกอบการพร้อม ผลที่ตามมาจากโครงสร้างภาษีแบบสองอัตราที่เรียกเก็บในอัตราที่สูงมากนี้ ทำให้ตลาดรับมือไม่ไหวเกิดอาการ “ช็อค” แล้วภาวะที่ตามมาก็คือ กลไกตลาดและพฤติกรรมผู้สูบที่เบี่ยงเบนไป พร้อมกับการระบาดอย่างรวดเร็วของบุหรี่เถื่อนและผลิตภัณฑ์ทดแทนบุหรี่ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า

พูดง่ายๆ ก็คือ การปรับโครงสร้างภาษียาสูบเป็นแบบซับซ้อนสองอัตรา ทำให้ราคาบุหรี่ในประเทศไทยแพงขึ้น เกิดวิกฤติบุหรี่เถื่อนและผลิตภัณฑ์ทดแทนที่ถูกกว่าระบาดหนัก คนหันไปหาของถูกของเถื่อน สูบบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย ด้อยคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน และไร้การควบคุม ซึ่งซื้อหาได้ง่ายแถมยังส่งถึงบ้าน ทำให้เสียสุขภาพยิ่งไปกว่าเดิม

จากภาษียาสูบ สู่บุหรี่เถื่อน และอาการป่วยของสังคมไทย

ผลที่ตามมาจากนั้นก็คืออาการป่วยของสังคมไทยในวงกว้าง

อาการป่วยแรก คือ บุหรี่เถื่อนและอาชญากรรมข้ามชาติระบาด! โดยอาการป่วยนี้มีแต่ทรงกับทรุด ข้อมูลสำรวจโดย NIQ บอกว่า บุหรี่เถื่อนในไทยเติบโตมากขึ้นกว่าเท่าตัวหลังการปรับโครงสร้างภาษียาสูบปีพ.ศ.2560 โดยเพิ่มจาก 2.9% ในปี 2559 เป็น 6.6% ในปี 2560 ต่อมาเมื่อกรมสรรพาสามิตปรับขึ้นภาษียาสูบอย่างก้าวกระโดดในปีพ.ศ.2564 บุหรี่เถื่อนก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดเหมือนกัน โดยเพิ่มจาก 11.4% ในปีพ.ศ.2564 เป็น 25.4% ในปีพ.ศ.2567 นอกจากนี้ในปีพ.ศ.2565 มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ก็สำรวจพบว่ามีจำนวนประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นของผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวหน้าเป็น 10 เท่าของผลสำรวจในปีพ.ศ.2563 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

อาการป่วยที่สอง คือ ผู้ผลิตในประเทศอย่างการยาสูบแห่งประเทศไทยและเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบไทยรายได้หดวูบ โดยหลังการปรับโครงสร้างภาษียาสูบเป็นแบบซับซ้อน 2 อัตรามีราคาขายปลีกเป็นตัวแบ่งในเดือนกันยายน ปี 2560 ส่วนแบ่งทางการตลาดของการยาสูบฯ ลดลงถึง 26.27% และยังเสียรายได้จำนวนมหาศาลหลังปรับโครงสร้างภาษียาสูบทั้งสองครั้ง ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบทั่วประเทศราว 3 หมื่นครัวเรือนต้องประสบปัญหาการขายผลผลิตไม่ได้ ราคาตก เสียรายได้จากการขายใบยาสูบและยาเส้น โดยตลอด 7 ปีที่ผ่านมานั้นการยาสูบฯ ลดปริมาณรับซื้อใบยา 56.68% จาก 26.177 ล้านกิโลกรัมในปี 2560 เหลือเพียง 10.817 ล้านกิโลกรัม ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยซึ่งมีสภาพเหมือนคนไข้ที่ยังไม่ฟื้นตัว

แล้ว อาการป่วยที่สาม ก็ตามมา นั่นก็คือ ประเทศไทยเสียรายได้เพราะเก็บภาษียาสูบได้น้อยลง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ.2559-2567 รัฐเก็บภาษีสรรพสามิตยาสูบได้น้อยลงถึง 14,192 ล้านบาทเลยทีเดียว นั่นคือเงินที่จะนำไปใช้จ่ายในงบประมาณประจำปีเพื่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาชุมชน คุณภาพชีวิตและปากท้องของคนไทยผ่านการจัดเก็บภาษีไม่เพียงแต่เฉพาะภาษีสรรพสามิต แต่ยังหมายรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษี earmarked หรือภาษีเพื่อวัตถุประสงค์ ได้แก่ ภาษีเพื่อมหาดไทย เงินบำรุงกองทุน สสส.  เงินบำรุงไทยพีบีเอสซึ่งเป็นสื่อสาธารณะ เงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย เงินบำรุงกองทุนพัฒนาการกีฬา ตลอดจนภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด ก็ลดลงเช่นเดียวกัน

ปราบบุหรี่เถื่อนด้วยมาตรการภาษีแบบอัตราเดียว

เมื่อต้นตอสำคัญของปัญหาบุหรี่เถื่อนในบ้านเรามาจากโครงสร้างภาษียาสูบที่ซับซ้อนสองอัตรา เราก็ต้องแก้ที่โครงสร้างภาษียาสูบใช่หรือไม่ เพื่อให้สามารถรักษาอาการป่วยต่างๆ ที่ตามมาอย่างได้ผล ไปถูกทาง

ประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างภาษียาสูบและแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คิดถึงโจทย์ของทุกฝ่าย นั่นก็คือ ต้องลดจำนวนผู้สูบ จัดเก็บรายได้เข้ารัฐ และสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม พร้อมไปกับการหยุดวงจรการค้าบุหรี่เถื่อนซึ่งก็คือหยุดการไหลของเงินภาษีไปสู่มือของผู้ค้าบุหรี่เถื่อนและบุหรี่ไฟฟ้าในเวลาเดียวกัน

ข้อเสนอสำคัญที่มาจากหลายฝ่าย ก็คือ ประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบให้เป็นอัตราเดียวในอัตราที่เหมาะสม และโดยที่จะต้องมีแผนปรับภาษีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ข้อเสนอนี้มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นแนะนำตรงกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “ผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหายาสูบและยาเส้นราคาตกต่ำ” ของคณะกรรมาธิการการเงินการคลังสถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร (2567) และ “การศึกษาเพื่อพัฒนาโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสาสูบเพื่อเสนอแนวทางการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตยาสูบที่เหมาะสมกับประเทศไทย” ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (2564) แทนการโครงสร้างภาษีที่ซับซ้อนไม่ว่าจะเป็นแบบสองอัตราหรือแบบสามอัตราที่บางภาคส่วนมีความพยายามที่จะนำเสนอนั่นเอง

นอกจากนี้ ข้อเสนอโครงสร้างภาษียาสูบอัตราเดียวก็สอดคล้องกับแนวทางขององค์การอนามัยโลกซึ่งแนะนำให้ใช้โครงสร้างระบบภาษียาสูบที่เรียบง่ายด้วย เพราะระบบภาษีที่ซับซ้อนนั้นมีต้นทุนสูงในการบริหารจัดการ กระตุ้นให้เกิดการเลี่ยงภาษี นำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ราคาถูกที่เสียภาษีต่ำกว่า และการไหลบ่าของนอกกฎหมาย ส่งผลต่อตลาดและผู้สูบตามมา ซึ่งเราเห็นเป็นประจักษ์กันไปแล้ว

ปรับโครงสร้างภาษียาสูบให้เป็นอัตราเดียวในอัตราที่เหมาะสมและมีแผนปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไปดีกว่า เพื่อปราบบุหรี่เถื่อน ปกป้องผู้ผลิตในประเทศ ให้รัฐเก็บภาษีไปใช้พัฒนาชีวิตคนไทยได้ และเพื่อให้บุหรี่เข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมเพื่อความสมดุลของเป้าหมายทั้งทางด้านและสังคมสุขภาพของคนไทย รวมถึงด้านเศรษฐกิจปากท้อง  ในสมการแบบวิน-วินนี้ เราทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์กันมิใช่หรือ.

© 2021 thairemark.com