Saturday, 22 February 2025 - 4 : 55 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

เปิดตลาดหมู-ไก่ ให้สหรัฐ ไทยต้องรอบคอบ ควรยกเลิกโควต้าและภาษีนำเข้าวัตถุดิบเสริมแกร่งปศุสัตว์ไทย

หลังรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของโดนัลด์ ทรัมป์ นโยบาย “America First Trade Policy” ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านการเปิดตลาดสินค้าเกษตร ซึ่งหนึ่งในสินค้าที่อาจถูกผลักดันให้เปิดตลาด คือ เนื้อหมูและเนื้อไก่ เนื่องจากสหรัฐฯ ที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงด้วยต้นทุนและราคาที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ของไทยมาก การเจรจากับสหรัฐฯ ภายใต้นโยบายนี้จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบบนพื้นฐานที่เป็นธรรมและยั่งยืน (Fair Trade) เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ

การเปิดตลาดให้กับสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย การเปิดตลาดสามารถเสริมสร้างโอกาสในภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในการส่งออกสินค้าเกษตรสู่ตลาดสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ แต่ในขณะเดียวกัน ภาคปศุสัตว์ของไทยก็อาจได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรงจากสินค้าราคาถูกจากสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้เกษตรกรไทยไม่สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว

เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย (win-win benefit) รัฐบาลไทยจำเป็นต้องพิจารณาข้อแลกเปลี่ยนที่เป็นธรรมทั้งกับประเทศและเกษตรกรไทยในการเปิดตลาดสินค้าเกษตรกับสหรัฐฯ และหนึ่งในข้อเสนอสำคัญที่เกษตรกรภาคปศุสัตว์ของไทย คือ การลดภาษีนำเข้าและการยกเลิกโควต้าสำหรับอาหารสัตว์ ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง และอาจเพิ่มเติมในส่วนของข้าวสาลี มีบทบาทสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ของไทย การลดอุปสรรคดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เนื้อสัตว์ไทยสามารถแข่งขันกับเนื้อสัตว์ของสหรัฐฯได้ ที่สำคัญเนื้อสัตว์ของไทยยังมีมาตรฐานด้านสุขอนามัยที่ดีกว่าเนื้อสัตว์ของสหรัฐฯ เช่น ไทยห้ามการใช้สารเร่งเนื้อแดง ที่สำคัญเนื้อสัตว์ที่ผลิตในประเทศย่อมมีความสดและสะอาดกว่าเนื้อสัตว์ที่ต้องใช้เวลาในการขนส่งนานแน่นอน

ปัจจุบัน ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกหลักของวัตถุดิบเหล่านี้ แต่การเก็บภาษีสูงและการตั้งโควต้านำเข้า เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันมีโควต้านำเข้าและค่าธรรมเนียมนำเข้าซึ่งอัตราแตกต่างกันขึ้นกับประเทศที่นำเข้า ขณะที่กากถั่วเหลืองเก็บภาษีนำเข้า 2% ทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ในไทยสูง ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของภาคปศุสัตว์ไทยทั้งตลาดภายในและการส่งออกไปต่างประเทศ

สมาพันธุ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (2552) รายงานว่า ปัจจุบันไทยมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 9.2 ล้านตัน แต่ผลิตในประเทศได้เพียง 5 ล้านตัน นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน 2 ล้านตัน และนำเข้าข้าวสาลีมาใช้ทดแทน 1.7 ล้านตัน แต่เนื่องจากเกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 และหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะนำเข้าวัตถุดิบดังกล่าวจากสหรัฐฯ

การลดภาษีนำเข้าและยกเลิกโควต้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากสหรัฐฯ จึงเป็นข้อเสนอที่สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้โดยตรง ทั้งยังช่วยให้ผู้ผลิตในประเทศสามารถเข้าถึงวัตถุดิบที่มีคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดตลาดสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลไทยสามารถกำหนดช่วงเวลาในการนำเข้าไม่ให้ตรงกับช่วงเวลาเก็บเกี่ยวของพืชดังกล่าวได้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านราคาที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรไทยได้

นอกจากนี้ การลดภาษีและยกเลิกโควต้านำเข้าวัตถุดิบดังกล่าวไม่เพียงแต่จะลดต้นทุนการผลิตในภาคปศุสัตว์เท่านั้น แต่ยังกระตุ้นและส่งเสริมให้ไทยพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ ทั้งการเพิ่มผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง ให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศและลดการพึ่งพาการนำเข้าได้ โดยรัฐบาลไทยต้องให้การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการวิจัยในการเพิ่มผลผลิต ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางการผลิตในระยะยาว และส่งผลดีต่อเกษตรกรในท้องถิ่นที่อาจได้รับประโยชน์จากการเพิ่มผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและลดต้นทุนในระดับประเทศ

การเจรจากับสหรัฐฯ ภายใต้นโยบาย “America First Trade Policy” จำเป็นต้องคำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์ของประเทศและภาคเกษตรไทยอย่างรอบคอบ การลดภาษีนำเข้าและยกเลิกโควต้าจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรไทยในประเทศและในตลาดโลกได้ดีขึ้น ที่สำคัญไทยยังสามารถใช้โอกาสนี้ในการต่อรองกับสหรัฐฯ เพื่อขอความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ และการให้การสนับสนุนด้านการตลาดเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน

รัฐบาลไทยควรพิจารณาการลดภาษีนำเข้าและการยกเลิกโควต้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากสหรัฐฯ ตามแนวทางการรักษาผลประโยชน์แบบ win-win โดยไทยจะสามารถลดต้นทุนการผลิตในภาคปศุสัตว์และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ขณะที่สหรัฐฯ ก็จะได้ประโยชน์จากการขยายตลาดสินค้าเกษตรของตนเอง การเจรจาการค้าครั้งนี้จึงควรเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ร่วมกันในฐานะประเทศคู่ค้า รัฐบาลไทยควรพิจารณาข้อเสนอที่เป็นธรรมนี้อย่างละเอียด เพื่อให้การเปิดตลาดสินค้าเกษตรกับสหรัฐฯ เกิดผลประโยชน์สูงสุดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

โดย…สมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระ

© 2021 thairemark.com