Wednesday, 12 February 2025 - 11 : 25 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

นักวิชาการธรรมศาสตร์ จับตา ‘สหรัฐฯ’ ใกล้ชิดไทย ไม่กระทบจากสงครามการค้า แต่ยังมีความเสี่ยงกับ 2 นโยบาย ‘ทรัมป์’

นักวิชาการธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ผลพวงสงครามการค้าสหรัฐฯ ชี้ ‘ไทย’ ยังไม่ได้รับกระทบจาก โดยตรง เหตุ “ทรัมป์” พุ่งเป้าไปที่ประเทศปัญหา ‘ยาเสพติด-เข้าเมืองผิดกฎหมาย’ เป็นลำดับแรก แต่ในทางอ้อมการขึ้นภาษีสินค้าจีน 10% อาจทำให้คำสั่งการผลิตในไทยลดลงได้ แนะจับตาอีก 2 มาตรการที่ยังไม่ประกาศ “ขึ้นภาษีสินค้าจากประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ – มาตรการกีดกันการค้าจากสหรัฐฯ” หากใช้จริง ไทยอาจตกเป็นเป้าหมายด้วย

จากนโยบายการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่เตรียมขึ้นภาษีสินค้าจาก 3 ประเทศ ได้แก่ จีน 10% และแคนาดา เม็กซิโก 25% โดยสองประเทศหลังนี้ ยังชะลอออกไปก่อนนั้น

ดร.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์สาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า หากพิจารณาแค่ในบริบทของการประกาศขึ้นภาษีสินค้าจาก 3 ประเทศ ตามที่ทรัมป์ประกาศ พบว่าไทยคงยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากไทยยังไม่ใช่เป้าหมายของการขึ้นกับแพงภาษีของทรัมป์ในรอบนี้ 

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงเป้าหมายในการขึ้นภาษีสินค้าในรอบนี้ คือพิจารณาคำสั่งฝ่ายบริหารอย่างละเอียดแล้ว จะพบว่าทรัมป์ให้ความสำคัญไปที่ปัญหาคนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายและยาเสพติดมากกว่า โดยมีการกล่าวถึงความเสียเปรียบจากการค้ากับประเทศอื่นๆ ไม่มากนัก ดังนั้น ถ้ามองว่าในระยะแรกทรัมป์ให้ความสำคัญกับเรื่องคนเข้าเมืองและยาเสพติด มากกว่าเรื่องการค้าและการสร้างการผลิตในประเทศ ประเทศไทยก็อาจจะยังไม่ได้อยู่ในกลุ่มเป้าหมายในระยะแรก

อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีสินค้ากับจีน 10% ที่ไม่ได้ถูกยืดเวลาออกไปเช่นในกรณีของภาษีต่อแคนาดาและเม็กซิโก อาจจะส่งผลต่อไทยโดยอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าของจีนที่อาจมีห่วงโซ่การผลิตอยู่ในไทย เนื่องจากเมื่อความสามารถในการส่งออกของจีนมีน้อยลง ก็อาจจะส่งผลต่อคำสั่งการผลิตในไทยในไทยได้

ดร.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์สาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

ดร.ปองขวัญ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยอาจจะต้องตามดูความเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างใกล้ชิด ที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากว่ารัฐบาลทรัมป์มีลักษณะคาดการณ์ได้ยาก แม้ว่าเราอาจจะรู้คร่าวๆ ถึงนโยบายที่ทรัมป์น่าจะประกาศใช้ แต่เราไม่มีทางรู้ได้ว่าทรัมป์จะประกาศใช้ในช่วงใด และในลักษณะใด ก่อนหน้านี้มีสิ่งที่ทรัมป์ประกาศอยู่ 2 เรื่องที่อาจจะกระทบกับไทยโดยตรง นั่นคือทรัมป์จะขึ้นภาษีสินค้าจากประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ และมีมาตรการกีดกันการค้าจากสหรัฐฯ และทรัมป์จะขึ้นภาษีสินค้าของบริษัทจีนแม้ว่าจะผลิตและส่งออกจากประเทศอื่น ทั้งสองกรณีนี้ ถ้าทรัมป์ประกาศใช้จริง ไทยก็อาจตกเป็นเป้าหมายได้ 

แต่ทั้งนี้ที้ทั้งนั้น เนื่องจากเราเห็นตัวอย่างจากกรณีของแคนาดาและเม็กซิโกแล้วจะพบว่า ทรัมป์ยังคงเชื่อในการเจรจา ดังนั้น หากเรารู้ว่าการขึ้นกำแพงภาษีนั้นมีเป้าหมายจริงๆ เป็นเรื่องอะไร ก็อาจเจรจากับสหรัฐฯ ในลักษณะยื่นหมูยื่นแมวได้ ในระยะยาว ไทยอาจจะต้องพยายามกระจายกระส่งออกไปยังประเทศต่างๆ มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพิงการส่งออกไปยังสหรัฐฯ

ดร.ปองขวัญ กล่าวอีกว่า ทรัมป์มองว่าตัวเองเป็นนักเจรจา ดังนั้นในกรณีการชะลอการขึ้นภาษีสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาเป็นตัวอย่างชัดเจน สำหรับทรัมป์ การจะประสบความสำเร็จในการเจรจา จำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือที่ทำให้ตัวเองได้เปรียบมากที่สุด ในกรณีแคนาดากับเม็กซิโก ภาษีเป็นเครื่องมือสร้างความได้เปรียบของสหรัฐฯ ในการกดดันในทั้งแคนาดาและเม็กซิโกเอาจริงเอาจังในเรื่องคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและยาเสพติดมากขึ้น เนื่องจากทั้งสองประเทศนี้พึ่งพาทั้งการส่งออกและนำเข้าจากสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก และเมื่อทรัมป์บรรลุเป้าหมายทำให้ทั้งสองประเทศนี้สัญญาว่าจะรับผิดชอบในเรื่องคนเข้าเมืองและยาเสพติดมากขึ้น ทรัมป์จึงชะลอการขึ้นภาษีสินค้าออกไปก่อน

สำหรับการดำเนินนโยบายภาษีการค้าของสหรัฐฯ ที่มีขึ้นในช่วงเวลาที่ น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน และหารือกับ นายสี จิ้นผิง จะมีผลต่อรัฐบาลไทยหรือไม่นั้น นักวิชาการธรรมศาสตร์รายนี้ ระบุว่า ท่าทีที่ใกล้ชิดกับจีนมากเกินไปอาจเรียกความสนใจจากสหรัฐฯ ให้ตระหนักถึงการเกินดุลการค้าของไทยกับสหรัฐฯ และการเป็นฐานการผลิตให้กับสินค้าของจีน 

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่อยากให้กังวลในเรื่องท่าทีของไทยต่อจีนมากเกินไป ทั้งนี้ เนื่องจากถ้าดูลักษณะการดำเนินนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ จะพบว่าทรัมป์แทบจะไม่ดำเนินนโยบายกดดันประเทศที่เป็นมิตรหรือใกล้ชิดประเทศที่เป็นเป้าหมายโดยตรง แต่จะใช้มาตรการที่จัดการประเทศที่เป็นเป้าหมายโดยตรงมากกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทรัมป์เองก็ไม่เคยมองว่าความเป็นพันธมิตรหรือเพื่อนในสังคมระหว่างประเทศมีความสำคัญและจีรังยั่งยืน 

นอกจากนี้ การที่ทรัมป์ให้ความสำคัญกับการเจรจาที่เป็นแบบยื่นหมูยื่นแมวหรือ transactional อาจทำให้ไทยยังคงเจรจากับสหรัฐฯ ได้โดยเอาผลประโยชน์ โดยเฉพาะผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจเป็นที่ตั้ง ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะมีท่าทีอย่างไรกับสีจิ้นผิง

“ท่ามกลางแรงกดดันทั้งจากสหรัฐและจีนในขณะนี้ ภาคธุรกิจอาจจะต้องจับตาปฏิกิริยาระหว่างทั้งสองประเทศนี้อย่างใกล้ชิด หากสหรัฐฯ ยังไม่ได้มีมาตรการขึ้นภาษีสินค้าจีนที่ผลิตและส่งออกจากประเทศอื่นด้วย ไทยก็อาจจะยังได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากจีนอยู่ อย่างไรก็ดี ในระยะยาวไทยอาจจะต้องมองหาตลาดอื่นๆ นอกจากสหรัฐฯ และจีนเอาไว้ด้วยเช่นกัน” ดร.ปองขวัญ กล่าว

© 2021 thairemark.com