นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนการทำงานของกรมวิชาการเกษตร ตามนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยมีเป้าหมายสนับสนุนและผลักดันให้“เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม กรมวิชาการเกษตร จึงได้จัดทำโมเดลต้นแบบ “ลิ้นจี่ นครพนม 1 ต้นแบบงานวิจัย สู่สินค้าเกษตร GI” ของจังหวัดนครพนม
ภายใต้โครงการ 76 จังหวัด 76 โมเดล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลิ้นจี่นครพนม 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้รับคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์โดยกรมวิชาการเกษตร จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดนครพนมและเป็นตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย GI ของตำบลขามเฒ่า จังหวัดนครพนม โดยลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 มีลักษณะเด่นแตกต่างจากลิ้นจี่พันธุ์อื่นๆ ทั่วไปคือ มีรสชาติดีหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ไม่มีรสฝาด ผลมีขนาดใหญ่ ให้ผลผลิตเร็ว แทงช่อดอกในช่วงต้นเดือนธันวาคม ดอกบานในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งเร็วกว่าลิ้นจี่ที่ปลูกในเขตภาคเหนือ จึงไม่มีปัญหาด้านการตลาด
นางสาวปวีณา เชยชุ่ม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม และคณะนักวิจัยของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม ได้คัดเลือกนางรัศมี อุทาวงค์ เป็นเกษตรกรต้นแบบ “ลิ้นจี่ นครพนม 1 ต้นแบบงานวิจัย สู่สินค้าเกษตร GI”โดยนางรัศมี มีประสบการณ์การด้านการปลูกลิ้นจี่ นครพนม 1 ตั้งแต่รุ่นพ่อสู่รุ่นลูกร่วม 26 ปี และเป็นประธานแปลงใหญ่ลิ้นจี่ นครพนม 1 ตำบลขามเฒ่า จังหวัดนครพนม คณะนักวิจัยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม ได้นำเทคโนโลยีการผลิตลิ้นจี่นครพนม 1 ไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร
ทั้งเรื่องการใช้พันธุ์ลิ้นจี่นครพนม 1 ของกรมวิชาการเกษตร เทคโนโลยีการใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำ เทคโนโลยีการตัดแต่งกิ่ง และเทคโนโลยีการป้องกัดกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยในแปลงโมเดลลิ้นจี่นครพนม 1 ของนางรัศมี ในด้านการดูแลรักษา หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนพฤษภาคมจะดำเนินการตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยบำรุงต้น เดือนสิงหาคมใส่ปุ๋ยก่อนออกดอก หลังแทงช่อดอกในเดือนธันวาคมให้น้ำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องจนถึงติดผลดอกปานปลายเดือนมกราคม และติดผลในเดือนกุมภาพันธ์ใส่ปุ๋ย 4 ครั้ง/ปี หลังตัดแต่งกิ่งก่อนออกดอก 2-3 เดือน ระยะผลเล็กและก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน
การเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนเมษายน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 100 กิโลกรัม/ต้น มีการจำหน่ายทั้งแบบปลีกและแบบส่งให้กับห้างสรรพสินค้าทั้งในจังหวัดนครพนมและจังหวัดอื่นๆ โดยราคาอยู่ที่ 80-150 บาท/กิโลกรัม ในปี 2566 มีรายได้จากการผลิตลิ้นจี่นครพนม 1 จำนวน 300,000 บาท/ไร่ ต้นทุนการผลิตลิ้นจี่ของเกษตรกรต้นแบบอยู่ที่ 20,000 บาท/ไร่ จึงมีผลตอบแทนถึง 280,000 บาท/ไร่/ปี อีกทั้งยังสามารถขยายพันธุ์เพื่อจำหน่ายต้นพันธุ์ได้อีกด้วย โดยที่แปลงต้นแบบจำหน่ายกิ่งพันธุ์ราคา 50-100 บาท
“ลิ้นจี่ นครพนม 1 เกษตรกรเริ่มให้ความสนใจในการนำไปปลูกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครพนมเกือบทั้งหมดเป็นลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 และเริ่มมีปลูกในจังหวัดข้างเคียง ผลมีขนาดใหญ่ประมาณ 32-36 ผลต่อกิโลกรัม เนื้อผลหนาประมาณ 0.98 เซนติเมตร เนื้อแห้งไม่แฉะ มีกลิ่นหอม ความหวานอยู่ที่ 18-20 บริกซ์ และต้นลิ้นจี่อายุประมาณ 8-10 ปี สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 65-180 กิโลกรัมต่อต้น สำหรับเกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม โทรศัพท์ 0-4253-2586” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว