Thursday, 21 November 2024 - 8 : 33 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

งานเข้า!! เครือข่ายส.ท.ช. ยื่น ป.ป.ช. สอบทุจริตบิ๊ก ทอท.

ส่อเค้าวุ่นไม่จบแถมพบกลิ่นตุๆๆ ปมทุจริตใน ทอท. นับจากปี 66 ต่อเนื่องปี 67 หลังพนักงานสังกัดคมนาคมยื่นหนังสือขอให้ป.ป.ช.ตรวจสอบปมการทุจริตบิ๊กทอท. แต่ไม่มีความคืบหน้า ล่าสุดเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ส.ท.ช.) ออกมาจี้ให้เร่งตรวจสอบกรณีกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ทำให้ทอท.ได้รับความเสียหายส่อผิดหลักธรรมาภิบาลและจริยธรรม

แหล่งข่าวจากเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ส.ท.ช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ส.ท.ช. ลงนามโดยนายอาคม อุปแก้ว รองประธานเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ( ส.ท.ช.) ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามหนังสือรับที่ 36953 ขอให้เร่งติดตามความคืบหน้าผลการตรวจสอบข้อกล่าวหาและร้องเรียนต่อพฤติกรรมทุจริตและประพฤติมิชอบของนายกีรติ  กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ในประเด็นต่างๆดังนี้

เรื่องที่ 1 กรณีลดสเป็กงานก่อสร้างทางวิ่งที่ 3 (รันเวย์ 3) โดยนายกีรติฯในขณะดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและก่อสร้างทอท.ได้รับการร้องเรียนว่าเรียกรับผลประโยชน์จากบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการงานก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในการเปลี่ยนแปลงสเป็กการก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ที่ต่ำกว่าต้นทุนถูกกว่าสเป็กเดิมแต่ยังเป็นวงเงินเดิมเพื่อให้มีส่วนต่างราคาเพื่อการเรียกรับผลประโยชน์นับ 1,000 ล้านบาท

เรื่องที่ 2 กรณีอุบัติเหตุผู้โดยสารถูกทางเลื่อนหนีบจนขาขาดที่สนามบินดอนเมืองเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 โดยถูกวิพากษ์วิจารณ์และมองว่าเกิดจากการเรียกร้องรับผลประโยชน์จากบริษัทเอกชนผู้รับงานดูแลซ่อมบำรุงรักษาบันไดทางเลื่อนซึ่งทอท. ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้โดยสารไปแล้วนั้น

เรื่องที่ 3 กรณีการแต่งตั้งบุคคลไม่เหมาะสมเป็นผู้บริหาร ทอท.ที่ขัดจริยธรรมและไม่เป็นไม่เป็นไปตามระเบียบ ซึ่งทอท.ได้มีคำสั่งที่ 1015/2566 แต่งตั้งผู้บริหารที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อ 26 กรกฎาคม 2566 โดยหนึ่งในผู้บริหารที่ได้รับแต่งตั้งคือนางสาวปวีณา  จริยฐิติพงศ์ จากตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด) เป็น รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและก่อสร้าง) ระดับ 11 ว่ากรณีดังกล่าวนายกีรติแต่งตั้งโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ทำงานและผลงาน แต่อาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัว เล่นพรรคเล่นพวกนับเป็นพฤติกรรมประพฤติมิชอบ ขัดหลักธรรมาภิบาลและจริยธรรมของหน่วยงาน

เรื่องที่ 4 กรณีทุจริตการจัดซื้อสติ๊กเกอร์ซีทรู (See Through Sticker) เฉลิมพระเกียรติฯสนามบินภูเก็ต โดยใช้วิธีเฉพาะเจาะจงมีความไม่โปร่งใส ไม่ถูกต้องตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง เบื้องต้นพบว่ามีความผิด 3 ประเด็น คือ 1. การตั้งราคากลางสูงเกินความเป็นจริง 2.การจัดจ้างโดยใช้วิธีเฉพาะเจาะจงที่ไม่เป็นไปตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารวัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และ 3.มีการอนุญาตให้คู่สัญญาเข้ามาดำเนินการติดตั้งสติ๊กเกอร์ก่อนวันลงนามสัญญา ซึ่งกรณีดังกล่าวยังได้มีการร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช.แล้วปมพิรุจคือ นายกีรติเป็นผู้อนุมัติงานจ้างพิมพ์สติ๊กเกอร์แต่กลับเป็นผู้สั่งตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและกรรมการลงโทษทางวินัย ท้ายสุดยังพบอีกว่าพนักงานที่กระทำผิดเพียงถูกลงโทษด้วยการย้ายงานเท่านั้นแต่ไม่ถูกลงโทษจริง

นอกจากนั้นยังมีกรณีการพาคณะผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นแบบลับๆ ช่วงวันที่ 11-16 เมษายน 2562 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายหลายแสนบาทเข้าข่ายเป็นบริษํทเอกชนที่ร่วมทุจริตให้ผลประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บริหารบริษัทเอกชน(ในขณะนั้น) เช่นเดียวกับเรื่องความล้มเหลวกรณีความเสียหายในการดำเนินโครงการระบบตั๋วร่วม ขณะนายกีรติเป็นผู้บริหารบริษัทพีเอสเค คอนซัลแทนส์ ในฐานะบริษัทคู่สัญญาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ในโครงการศึกษาพัฒนาระบบตั๋วร่วมจากปี 2555-2564 รวมงบประมาณราว 674 ล้านบาท  และเรื่องการฮั้วประมูลกรณีรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เต็มไปด้วยความอื้อฉาว มีข้อครหาการฟ้องร้องคดีความจนส่งผลให้เกิดความล่าช้าเป็นระยะเวลานานถึง 4 ปีจากกรณีมีการปรับแก้ไข RFP การประมูลโครงการนี้ แม้ในที่สุดศาลฯจะได้มีการตัดสินแล้วว่าไม่ผิดตามฟ้องก็ตามแต่หากพิจารณากรณีจริยธรรมความโปร่งใส ข้อกล่าวหาและข้อครหาฮั้วประมูลยังไม่จบและส่วนต่างราคาเป็นข้อเท็จจริงที่จะเป็นคดีความต่อไปในอนาคตได้

ดังนั้นในประเด็นข้อกล่าวหาและการ้องเรียนพฤติกรรมการประพฤติมิชอบเหล่านี้ประกอบกับหลายเรื่องยังพบว่ามีผลกระทบสูงมาก แต่กลับไม่ได้รับการแก้ไขจัดการโดยเร็วอันสะท้อนถึงความล้มเหลวและละเลยหลักธรรมาภิบาลและจริยธรรมของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ด้านการบินของประเทศไทยที่มีผลต่อเศรษฐกิจและผลประโยชน์ของประเทศไทยอย่างมหาศาล

“เครือข่าย ส.ท.ช. จึงขอให้ ป.ป.ช. เร่งดำเนินการตรวจสอบกรณีการกระทำความผิดในครั้งนี้พร้อมเร่งชี้มูลความผิดและดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเร็วต่อไป”

© 2021 thairemark.com