Thursday, 21 November 2024 - 11 : 50 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

บทพิสูจน์ความจริง จากปลาหมอคางดำสู่ปลาสวยงาม

นับเป็นเรื่องดีที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ประธานกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่รับผิดชอบการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ประกาศเรียก 11 บริษัทส่งออก “ปลาหมอคางดำ” และอธิบดีกรมประมง มาชี้แจงรายละเอียดสัปดาห์หน้าเพื่อหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม หลังบริษัทเอกชนเข้าให้ข้อมูลเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่ายังมีช่องว่างที่จำเป็นต้องตรวจสอบให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องการส่งออกปลาหมอคางดำเป็นปลาสวยงามระหว่างปี 2556-2559 

การเรียกบริษัทส่งออกปลาสวยงามทั้ง 11 บริษัท มาให้ข้อในมูลครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอที่จะทำให้ได้หลักฐานเพิ่มเติมและมีความชัดเจนมากขึ้นในการค้นหาความจริงกรณีการกระจายของปลาหมอคางดำในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้กรมประมงออกมาชี้แจงว่ารายงานสถิติการส่งออกของกรมฯ เมื่อปี 2556-2559 ระบุการส่งออกปลาหมอสีคางดำ ภายใต้ชื่อสามัญ Blackchin tilapia และชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron  จำนวน 230,000 ตัว ไป 17 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย 

กรณีส่งออกปลาหมอคางดำเป็นปลาสวยงาม ได้รับการชี้แจงจากผู้บริหารของกรมประมงว่า ปลาที่ส่งออก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron ชื่อสามัญว่า Blackchin tilapia ชื่อภาษาไทย “ปลาหมอเทศข้างลาย” ซึ่งน่าจะเป็นความผิดพลาดจากการกรอกข้อมูลของเจ้าหน้าที่ชิปปิ้งที่ส่งออก ที่ใส่ชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญ ของปลาหมอเทศข้างลายผิด (https://mgronline.com/news1/detail/9670000062813) กล่าวคือมีการลงชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญผิด ทั้งๆ ที่ทั้ง 2 ชื่อ เป็นมาตรฐานสากลที่ใช้ตรวจสอบการนำเข้าและส่งออกสินค้า…จึงเกิดคำถามอีกว่าการส่งออกนี้ถูกกฎหมายหรือไม่?

กรมประมง ได้เปิดเผยรายชื่อบริษัทที่ส่งออกปลาหมอคางดำ เรียงตามลำดับปริมาณส่งออกมากไปน้อย ประกอบด้วย หจก.ฉาง ซิน เอ็นเตอร์ไพร์ ส่งออก 162,000 ตัว, หจก. ซีฟู้ดส์ อิมปอร์ต-เอ็กซ์ปอร์ต 30,000 ตัว, บจก.นิว วาไรตี้ 29,000 ตัว, บจก. พี.แอนด์.พี อควาเรี่ยม เวิลด์ เทรดดิ้ง 3,638 ตัว, บจก.ไทย เฉียน หวู่ 2,900 ตัว ส่วนอีก 6 บริษัท ประกอบด้วย บจก. แอดวานซ์ อควาติก บจก.เอเชีย อะควาติคส์ บจก.หมีขาว หจก. วี. อควาเรียม บจก.สยามออร์นา เมนทอล ฟิช และ หจก.สมิตรา อแควเรี่ยม ส่งออก 100-900 ตัว 

จากตัวเลขส่งออกและรายชื่อบริษัทที่ถูกระบุชัดเจน ทำให้เกิดหลายคำถามที่ยังรอคำตอบให้หมดข้อสงสัยว่า เหตุใดหน่วยงานภาครัฐจึงปล่อยให้มีการลงชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญของปลาในระบบผิดพลาดทั้ง 11 บริษัท ต่อเนื่องนานถึง 4 ปี โดยไม่มีการตรวจสอบและไม่มีเจ้าหน้าที่รับรู้หรือแจ้งเตือนบริษัทส่งออกให้ดำเนินการให้ถูกต้องเลย…ที่สำคัญพ่อแม่พันธุ์ปลาที่ใช้เพาะเลี้ยงมาจากที่ไหนเพราะไม่มีประวัติการนำเข้ามีแต่ประวัติส่งออก และหลังจากปี 2559 ไม่มีการส่งออกปลาชนิดนี้แล้วปลาที่เหลืออยู่ที่ไหน

ด้วยเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ…หากปลาส่วนที่เหลือถูกปล่อยลงแม่น้ำลำคลองใกล้แหล่งเพาะเลี้ยง ก็เป็นโอกาสที่ปลาจะว่ายไปตามสายน้ำและไปแพร่กระจายในพื้นที่ใหม่ได้ โดยเฉพาะลักษณะทางกายภาพของปลาหมอคางดำที่ “อึด” ทนทุกสภาพน้ำ สามารถอยู่ได้แม้ในน้ำครำ ออกไข่ครั้งละมากๆ ออกไข่ได้ทุก 22 วัน  การกระจายตัวก็จะเร็วยิ่งขึ้น ในประเด็นเหล่านี้จึงจำเป็นต้องมีการสอบสวนให้เกิดความโปรงใส ข้อมูลจากบริษัทส่งออกจะเป็นหลักฐานสำคัญที่จะไขข้อสงสัยนี้ได้

หากจะสอบสวนให้ยุติธรรมกับทุกฝ่ายและคลี่คลายความคลางแคลงใจกรณีปัญหาการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำจำเป็นต้องโปรงใสและรอบด้าน จึงไม่ควรตัดประเด็นการส่งออกเป็นปลาสวยงามทิ้ง และไม่ใช้การโยนบาปให้ใคร แต่เป็นการพิจารณาตามหลักฐานที่มีอยู่จริง เพราะทุกประเด็นขณะนี้มีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น สังคมต้องได้รับคำตอบจากคำถามทั้งหมดที่ถูกหยิบยกไปแล้วข้างต้น./

โดย…ปาจรีย์ เนินสำราญ นักวิชาการอิสระ

© 2021 thairemark.com