ยุคโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดไร้เส้นทางยุติ ผลักดันให้คนตกงานเต็มบ้านเต็มเมือง อาชีพเกษตรกรรมถือว่าเป็นอีกทางออกของคนเตะฝุ่นยึดเป็นอาชีพสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว เช่นเดียวกับ นางสาววิไลวรรณ บุญเจริญ อายุ 27 ปี อดีตพนักงานขายห้างดังในกรุงเทพมหานคร เจอพิษวิกฤตโควิด-19 ระบาดหนักรอบแรกทำให้ตกงานจึงตัดสินใจเดินทางกลับมาภูมิลำเนาที่จังหวัดกาญจนบุรี
เพื่อตั้งหลักในการหาอาชีพใหม่ หวังที่จะทำเป็นอาชีพหลักที่จะสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว โดญติดตามช่องทางทำมาหากินทางสื่อโซเซียลต่างๆ พบว่า การเลี้ยงด้วงมะพร้าวเป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจที่ใช้เวลาสั้นๆ ก็ได้ผลผลิตแล้ว จึงทำการศึกษาข้อมูลต่างๆ พร้อมสั่งตัวพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาทดลองเลี้ยง
“แรกๆ ก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง เนื่องจากไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ แต่ด้วยความที่ชื่นชอบการเกษตร จึงได้ลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง จนพบว่าปัญหาหลักๆ นั้นไม่ยากอย่างที่คิด จะมีบ้างในเรื่องของแมลงศัตรูพืชและอาหารที่ยังไม่ตรงตามความต้องการของตัวอ่อน รวมถึงสภาพแวดล้อมของการฟักตัว การผสมพันธ์ของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์” นาวสาววิไลวรรณ กล่าว
นางสาววิไลวรรณ ได้สาธิตการทำรังเพาะพันธุ์พร้อมเล่าให้ฟังว่า “การเลี้ยงดูไม่ยาก เพียงแค่เตรียมกะละมังพลาสติกทั่วไปขนาดประมาณ 20 นิ้ว แล้วนำลำข้าวที่เตรียมไว้มาผสมกับน้ำ จากนั้นนำมากวนให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วนำเปลือกมะพร้าวแห้งสับเป็นชิ้นมาวางบนอาหารที่กวนไว้ ก่อนจะนำเปลือกมะพร้าวสดสีเขียว ซึ่งถือเป็นเคล็ดลับเด็ดของตน หลังจากที่ได้ทดลองศึกษามา นำมาวางขั้นตอนสุดท้าย และโรยน้ำตาลแดงไว้บนเปลือกมะพร้าวสดอีกที จากนั้นได้นำตัวพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ประมาณ 4 คู่ มาปล่อยในภาชนะอาหารที่เตรียมไว้ และนำฝาพลาสติกที่มีรูไม่ถี่มากมาปิดทับ เพื่อกันไม่ให้พ่อพันธ์แม่พันธุ์ออกไป จากนั้นก็ทิ้งไว้ประมาณ 15-20 วัน ก็มาเปิดภาชนะที่ทำการเพาะพันธุ์ออกเพื่อดูการเจริญเติบโตและเติมอาหารให้ตัวอ่อนอนุบาลไปอีกจนครบ 30-35 วัน ค่อยคัดแยกตัวที่ได้ขนาดมาตรฐานตามความต้องการออกมาทำความสะอาด บรรจุถุงแช่แข็ง หรือนำไปจำหน่ายได้เลย”
สำหรับการเลี้ยงด้วงมะพร้าวเพื่อบริโภคส่วนตัวคิดว่าไม่ยาก เนื่องจากใช้พื้นที่ไม่มาก การดูแลไม่ซับซ้อน หมั่นดูแลหนอนตัวอ่อนของแมลงบางชนิดที่เป็นศัตรูของด้วงตัวอ่อน และหมั่นดูแลภาชนะให้มีความสะอาดสม่ำเสมอ โดยปล่อยให้เขาเจริญเติบโตตามธรรมชาติ ก็จะได้ด้วงมะพร้าวที่มีขนาดใหญ่ตามความต้องการประมาณนิ้วหัวแม่มือ
จากการศึกษาข้อมูลทราบว่า ด้วงมะพร้าว มีคุณค่าทางอาหาร มีโปรตีนมากในระดับหนึ่ง อีกทั้งยังมีไขมันดี ที่ไม่มีผลดีต่อสุขภาพ ส่วนปัญหาหลักที่ยากสำหรับผู้เลี้ยงด้วงมะพร้าวนี้คือช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งต้องมีการวางแผนที่ดีเพื่อหาตลาด เนื่องจากบางคนก็นิยมนำมาบริโภค แต่บางคนก็ยังมีความหวาดกลัวว่าจะสามารถบริโภคได้หรือไม่ และจะมีอันตรายต่อร่างกายหรือไม่
ในอนาคตแมลงจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มนุษย์นำมารับประทาน เนื่องจากจะมีเพียงพอต่อความต้องการ แทนการบริโภคเนื้อปลา เนื้อหมู เนื้อวัว โดยสารอาหารก็มีครบถ้วนเช่นกัน ส่วนวิธีการปรุงอาหารนั้นก็ไม่ยากอย่างที่คิด อาทิเช่น การนำมาทอด หรือผัด เพียงแค่นำด้วงมะพร้าวที่เรานำมาทำความสะอาดแล้ว นำไปรวกด้วยน้ำร้อน จากนั้นนำมาตัดปากหรือใช้ไม้ทิ่มที่ส่วนบนของตัวด้วงเพื่อไม่ให้ไปทิ่มแทงเวลารับประทานและจะไม่แตกกระเด็นเวลานำมาปรุงอาหาร สามารถทำได้หลากหลายเมนู เช่น นำมาทอดกรอบเติมด้วยซอสปรุงรสพริกไทยกินเล่น ทำผัดกระเพรา ทำน้ำพริกด้วงดุ๊กดุ๊ก ทำไข่ตุ๋นด้วงมะพร้าวหรือต้มจืดก็ทำได้ รับรองว่ารสชาติอร่อยเด็ดแน่นอน
“รู้สึกมีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำกระแสตอบรับค่อนข้างดี มีผู้ที่สนใจติดต่อตนมาเพื่อขอข้อมูล วิธีการเลี้ยงและสั่งซื้อกันเป็นจำนวนมาก ทำให้รายได้ต่อเดือนนับแสนบาทเลยทีเดียว ตอนนี้กลุ่มเป้าหมายหลักอยู่ในช่วงอายุ 25-44 ปี เป็นคนที่ต้องการรายได้เสริม สร้างอาชีพใหม่ และผู้บริโภคที่ชื่นชอบการทานแมลง สำหรับผู้ที่สนใจที่จะเรียนรู้ตนก็พร้อมจะให้คำปรึกษาหรือสั่งซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไปทดลองเลี้ยงได้โดยตรง ผ่านเพจเฟสบุ๊ก ‘ฉันมีเขา’ หรือติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ช่องยูทูป ‘ฉันมีเขา’ ที่อยู่ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เบอร์โทร 061-5659623”
จากวิกฤตกลับกลายเป็นโอกาสทอง และนี่ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ได้เป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว.