เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2566 ที่ข่วงสันกำแพง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและคลัง ร่วมหารือแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ด้วย Soft Power และเยี่ยมชมการแสดงจำหน่ายและกระจายสินค้าโอทอปของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP อาทิ ตัวแทนจาก Young OTOP นักเรียนจากโรงเรียนสันกำแพง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่เข้าร่วม
นายเศรษฐา กล่าวว่า วันนี้มาลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้มาเยี่ยมชมศูนย์ผลิตภัณฑ์ OTOP ของจังหวัดเชียงใหม่ เดินทางมารับฟังปัญหาถึงที่ มาเจอผลิตภัณฑ์สินค้าที่สวยงามและพบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการ และได้มารับฟังปัญหาจากคนในพื้นที่ รับฟังจากนักวิชาการและตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ Young OTOP ซึ่งวันนี้ได้นำรัฐมนตรีมาลงพื้นที่ด้วย จะเห็นว่าเรื่องของ OTOP มีมาตั้งแต่สมัยอดีตนายกรัฐมนตรีนายทักษิณ ชินวัตร ทำมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ต่อมานางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็ได้สานต่อและทำมาอย่างต่อเนื่อง เป็นมรดกที่สำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า จากที่ได้มารับฟังและพูดคุยกับทุกคนแล้วทำให้รู้ถึงกระบวนการผลิตต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ OTOP ซึ่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP เป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพ แต่การส่งเสริมด้านการตลาดยังน้อยไป ดังนั้น ต้องมีการพัฒนาส่งเสริมด้านการตลาดให้มากขึ้น เพราะการตลาดเป็นเรื่องสำคัญในการทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักได้มากขึ้น โดยเฉพาะการจำหน่ายผ่านออนไลน์ ซึ่งจะทำให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น และยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ไปสู่เวทีระดับโลก ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลให้ความสำคัญและเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะช่วยเหลือตรงนี้ ทั้งการหาแหล่งเงินทุนให้ประชาชนได้เข้าถึงได้ในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม สนับสนุนการจัดหน้าร้านและการออกแบบ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้มีพื้นที่จัดแสดงสินค้าต่าง ๆ รวมถึงอาจมีการเชิญคณะทูตานุทูต และทูตพาณิชย์ของไทยที่ประจำอยู่ต่างประเทศได้มาเยี่ยมชมด้วย
ทั้งนี้ ขอให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เน้นการออกแบบที่ทันสมัย ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคและกลุ่มเป้าหมาย และในอีกสองสัปดาห์หน้า ตนเองจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าพ่อของผลิตภัณฑ์โอทอปที่สร้างออกมามีความสวยงามน่าซื้อ เป็น Soft Power ของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น โดยจะเชิญผู้ประกอบการไปดูว่าเขาทำอย่างไร ถ้าทุกคนเห็นจากสื่อโซเชียล จะเห็นว่าสินค้าผลิตภัณฑ์ของประเทศญี่ปุ่นใครเห็นแล้วก็อยากซื้อ ทั้งนี้ สำหรับคนรุ่นใหม่ อยากให้ทุกคนสร้างผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ตรงนี้ สร้างอนาคต สร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเองในการที่จะทำต่อไป ซึ่งทุกคนที่เติบโตอยู่ถิ่นฐานของตัวเองเข้าใจถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเองดี
ด้านตัวแทนเยาวชน Young OTOP กล่าวว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่มีความตั้งใจสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สนใจเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเป็นการต่อยอดให้ Young OTOP ได้รับการพัฒนาศักยภาพ สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม โดยดึงเสน่ห์เรื่องราว ความเป็นอัตตาลักษณ์ ผลิตภัณฑ์มาสร้างสรรค์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความร่วมสมัยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและสามารถแข่งขันในช่องทางการตลาดได้ อีกทั้งนำสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนของท้องถิ่นสู่สายตาชาวโลก โดยอยากให้รัฐบาลช่วยพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการ OTOP โดยนำผลิตภัณฑ์ OTOP ไปเชื่อมโยงกับเรื่องของการท่องเที่ยวชุมชน พร้อมส่งเสริมช่องทางการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่ตลาดสากล โดยการเปิดตลาดต่างประเทศ เพื่อขยายช่องทางการตลาดและกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ซึ่งผู้ประกอบการขานรับนโยบายรัฐบาลที่จะพัฒนาและผลักดันผลิตภัณฑ์ OTOP ให้เป็น Soft Power ด้วย
ขณะที่ ชาวอำเภอสันกำแพงได้จัดทำป้ายโปสเตอร์ขนาดใหญ่ทำจากแอปพลิเคชัน AI เป็นรูปหน้าเหมือน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ในชุด Captain Soft Power เลียนแบบมาจากภาพยนตร์เรื่อง Captain Marvell ในโปสเตอร์มีข้อความ “Soft Power อำนาจแห่งความสร้างสรรค์ เพื่อสรรค์สร้างเศรษฐกิจไทย Captain Soft Power ชาวอำเภอสันกำแพงร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power อย่างเต็มพลัง” ซึ่งทางอำเภอสันกำแพงจัดเตรียมไว้ให้ น.ส.แพทองธารถ่ายภาพด้วย แต่ปรากฎว่า น.ส.แพทองธารไม่ได้ร่วมคณะมากับนายกฯ