นักวิชาการ มธ. เผยข้อมูลรายงานวิจัยอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชี้ภาษีสุราขาวของไทยยังต่ำ เสนอขึ้นภาษีสุราราคาถูก – ลดการบริโภค เพิ่มรายได้ภาครัฐ พร้อมบังคับใช้กฎหมายเข้ม
ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้บริหารโครงการวิจัย เรื่อง อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้สรุปผลการประชุมแผนบูรณาการการท่องเที่ยว และให้มีการขยายเวลาปิดสถานบันเทิงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา โดยแนวทางดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบริการ ผับ บาร์ และคาราโอเกะจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีการคัดค้านจากกลุ่มรณรงค์ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางท้องถนนและปัญหาสุขภาพซึ่งเกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งเรียกร้องให้การดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องต้องมีความรอบคอบเพื่อสร้างความสมดุล
ผศ.ดร.สุทธิกร กล่าวว่า สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัดทำ “รายงานอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย” โดยศึกษาสถานการณ์ของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยในภาพรวมและบริบทที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การวิพากษ์นโยบายที่เกี่ยวข้องกับมาตรการของภาครัฐในการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นอันตรายภายในประเทศ และได้สรุปข้อมูลที่น่าสนใจอีกทั้งน่าจะเป็นประโยชน์ในการใช้เป็นแนวทางเพื่อกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ มีรายละเอียดดังนี้
แนวโน้มตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย – ขยายตัวขึ้น
รายงานดังกล่าวอ้างอิงข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา Euromonitor International และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมทั้งสิ้น 265.2 ล้านลิตร และมีการจำหน่ายในประเทศปริมาณรวมทั้งสิ้น 246 ล้านลิตร โดยแบ่งเป็นเบียร์ 222.2 ล้านลิตร สุราขาว 14.9 ล้านลิตรและสุราผสม 8.8 ล้านลิตร โดยมียอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศสูงถึง 490,680 ล้านบาท แบ่งเป็นเบียร์ร้อยละ 55 สุราร้อยละ 37 และไวน์ร้อยละ 7
ข้อมูลจากการศึกษายังพบว่านโยบายการเปิดประเทศหลังช่วงโรคระบาดของรัฐบาลไทย ทำให้ยอดขายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการดื่มในพื้นที่นอกบ้าน โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมดื่ม เบียร์ และมิกเซอร์ ล้วนมียอดขายที่เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น ทั้งนี้ ราคาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์และสุราเพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่ทำให้ราคาค่าขนส่งและต้นทุนผลิตสูงขึ้น ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ด้วยว่า ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยจะขยายมากขึ้นอีกจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยราคาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นหลังบริษัทต่าง ๆ เริ่มออกแบรนด์พรีเมียมอย่างต่อเนื่อง
ภาษีสรรพสามิตสุราขาวไทยต่ำกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่นๆ
รายงานฯ ระบุว่ารัฐบาลไทยใช้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อควบคุมการเข้าถึงและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนในประเทศ โดยใช้เหตุผลด้านสุขภาพและความเป็นธรรมภายในตลาด ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอขององค์การอนามัยโลกที่ส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ นำมาใช้เพื่อลดการดื่มสุรา โดยการเก็บภาษีสรรพสามิตสุราของไทยนั้นเป็นแบบผสม มีเป้าหมายเพื่อลดการบริโภคปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
ทั้งนี้ ปัจจุบันภาครัฐเก็บภาษีสรรพสามิตของสินค้าสุราขาว ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาถูกในอัตราที่ต่ำมาก ในขณะที่เบียร์และสุราประเภทอื่นๆ มีการจัดเก็บภาษีตามมูลค่ากว่าร้อยละ 20 นอกจากนี้ สำหรับไวน์และสุราอื่นๆ ที่มีราคาค่อนข้างสูงอยู่แล้วภายในตลาดก็มีอัตราภาษีตามปริมาณที่สูงกว่าสุราขาวอย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นเดียวกัน และเมื่อมีการคำนวณภาษีทั้งสองรูปแบบรวมกัน ทำให้ภาษีของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่นๆ สูงมากเมื่อเทียบกับสุราขาว
เสนอขึ้นภาษีสุราราคาถูก – ลดการบริโภคแอลกอฮอล์และเพิ่มรายได้ภาครัฐ
การเก็บภาษีในอัตราที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อราคาจำหน่ายสินค้า และเมื่อราคาสูงขึ้น ความต้องการจะลดลง ซึ่งเป็นไปตามหลักการความยืดหยุ่นต่อราคา อย่างไรก็ดี ปริมาณการซื้อจะลดลงมากน้อยเพียงใดหลังมีการขึ้นราคาขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่ออุปสงค์ต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มสุราที่มีราคาสูง การขึ้นราคาไม่มีผลต่อการบริโภคสินค้าเหล่านี้มากนัก
งานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คืองานวิจัยเรื่องความยืดหยุ่นต่อราคาและความยืดหยุ่นไขว้ของอุปสงค์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ ที่พบว่า เบียร์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเดียวที่ผู้ดื่มจะลดการบริโภคลงหากราคาปรับเพิ่มขึ้น แต่มีผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่ำ นอกจากนี้ การเพิ่มภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่นนั้นมีความยืดหยุ่นต่ำจนใกล้เป็นศูนย์ ซึ่งหมายความว่า ในภาพรวมของการบริโภคเครื่องแอลกอฮอล์นั้น การเพิ่มภาษีอาจไม่ส่งผลให้มีการบริโภคภายในตลาดลดลง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียด จะพบว่าความยืดหยุ่นไขว้มีนัยสำคัญทางสถิติมีค่าเป็นบวกในส่วนเฉพาะสุราขาวและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผสมพร้อมดื่ม ซึ่งหมายความว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งสองประเภทเป็นสินค้าทดแทนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่นเมื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่นมีราคาเพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงให้ข้อเสนอแนะว่า ในการขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น อาจพิจารณาขึ้นเฉพาะสุราขาวหรือสุราอื่นที่มีราคาต่ำ เพราะหากขึ้นภาษีสินค้าประเภทอื่น ผู้บริโภคก็จะหันมาบริโภคสุราที่มีราคาต่ำกว่าแทน นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาก็คือ สัดส่วนของรายได้ของผู้บริโภคต่อราคาของสินค้า กล่าวคือ หากสินค้ามีราคาแพงเมื่อเทียบกับรายได้ ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ย่อมสูงกว่า ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าการขึ้นภาษีสำหรับสุราที่มีราคาถูกที่เน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอาจทำให้ความยืดหยุ่นของอุปสงค์สูงขึ้น ส่งผลให้มีการบริโภคสุราน้อยลงตามไปด้วย และการขึ้นภาษีสุราที่มีราคาถูกซึ่งมีสัดส่วนยอดขายจำนวนมากจะช่วยให้ภาครัฐจัดเก็บรายได้มากขึ้น หรืออาจเกิดผลทั้งสองอย่างร่วมกัน ซึ่งต่างเป็นผลลัพธ์ทางบวกที่ภาครัฐต้องการ
วิเคราะห์สถิติอุบัติเหตุทางถนน-เมาแล้วขับ เกิดขึ้นในพื้นที่แบบใดมากที่สุด
รายงานอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ระบุข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนว่า ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 27 กันยายน 2566 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยกว่า 10,412 ราย และบาดเจ็บกว่า 587,253 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้เสียชีวิตจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ และเป็นเพศชายกว่าร้อยละ 80 เมื่อพิจารณาสัดส่วนของผู้เสียชีวิตต่อจำนวนประชากร พบว่า สถิติของผู้เสียชีวิตสะสมมากที่สุดอยู่ในจังหวัดสระบุรี ตามมาด้วยจังหวัดระยอง ตราด เพชรบุรี สิงห์บุรี ภูเก็ต และชลบุรี ซึ่งจะเห็นได้ว่าบางจังหวัดเป็นจังหวัด ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก และเป็นจังหวัดที่มีแรงงานต่างถิ่นเข้าไปทำงานในอัตราที่สูง ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือการเมาแล้วขับ โดยในช่วง 7 วันอันตรายในเทศกาลปีใหม่ (วันที่ 29 ธ.ค.2565 – 4 ม.ค.2566) ที่ผ่านมานั้นมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กว่า 8,923 คดี จำแนกเป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 8,567 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.01 โดยจังหวัดที่มีคดีขับรถในขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนนทบุรี
สำหรับ จังหวัดที่มีสัดส่วนการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดคือจังหวัดที่มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากอย่างสระบุรีและระยอง ในส่วนคดีเกี่ยวกับการขับรถเมื่อเมาสุรายังเกิดขึ้นมากที่สุดในจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นจังหวัดจังหวัดที่มีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยต่ำที่สุด ติด 1 ใน 10 ของประเทศ ในปี2564 จากข้อมูลเหล่านี้จะเห็นได้ว่า อุบัติเหตุและความสูญเสียจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ ซึ่งมีแนวโน้มจะขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นหลัก ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุย่อมเกิดผลกระทบมากกว่าการขับขี่รถยนต์
ในขณะเดียวกัน งานวิจัยหลายชิ้นจากต่างประเทศก็ระบุว่า กลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยมีแนวโน้มที่จะเมาแล้วขับจนประสบอุบัติเหตุ บาดเจ็บ และเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูง ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ รถที่คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน หรือในกรณีประเทศไทยคือการขับขี่รถจักรยานยนต์ สภาพแวดล้อมในเขตอาศัยของผู้ที่มีรายได้ต่ำ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากกว่า
ผศ.ดร.สุทธิกร กล่าวย้ำคณะผู้วิจัยจึงให้ข้อเสนอแนะว่า สำหรับนโยบายการควบคุมการดื่มสุรา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุว่าควรเป็นการควบคุมกลุ่มสุราที่มีราคาถูกเป็นหลัก เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยซึ่งตามสถิติแล้วมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียได้มากกว่า ซึ่งนอกจากสถิติอุบัติเหตุที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดจากสุราขาวและสุราราคาถูกมากกว่าแล้ว สุราราคาถูกยังนำไปสู่ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ
“หลายประเทศทั่วโลกมีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อกำกับและควบคุมให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีความรับผิดชอบ โดยในรายงานฯ ยกตัวอย่างประเทศนิวซีแลนด์ แคนาดา นอร์เวย์ และออสเตรเลียซึ่งมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจและสามารถนำมาปรับใช้ในประเทศไทยได้ กฎหมายของประเทศเหล่านี้ มีเนื้อหาที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกับประเทศไทยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้มีใบอนุญาตในการจำหน่าย การกำหนดภาระของผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การให้อำนาจท้องถิ่นในการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ อย่างไรก็ดี สิ่งที่อาจมีความแตกต่างกันคือเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงความรู้ ความเข้าใจ และความเต็มใจที่จะปฏิบัติตามของผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจต้องมีการดำเนินการศึกษาประเด็นดังกล่าวในเชิงลึกในอนาคต” ผศ.ดร.สุทธิกรกล่าว