‘ไทย สมายล์ กรุ๊ป’ กางแผน ซื้อรถเมล์ไฟฟ้า 3,100 คัน นำรถให้บริการแล้วกว่า 2,200 คัน 123 เส้นทาง เดินหน้าเพิ่มฟีดรถเมล์ไฟฟ้าสีส้มราคาประหยัด 10 บาทตลอดสาย นำร่องวิ่ง 10 เส้นทาง เริ่มให้บริการ 6 พ.ย. นี้
เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2566 นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทย สมายล์ กรุ๊ป เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของไทยสมายล์บัสตลอด 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปี 2566ว่า การพัฒนาธุรกิจในเครือไทยสมายล์กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของเส้นทางให้บริการที่ปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 123 เส้นทาง ประกอบกับการเพิ่มจำนวนรถเข้าให้บริการพี่น้องประชาชน จาก 800 คัน ในช่วงต้นปี 2565 จนปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2,200 คันแล้ว ส่งผลให้ยอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดิมเฉลี่ยมากกว่า 300,000 คน/วัน สอดคล้องกับจำนวนรถและรอบที่ให้บริการมากขึ้น
ทั้งนี้ทำให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่พี่น้องประชาชนหันมาใช้บริการรถสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้นขณะเดียวกันทางบริษัท ได้เพิ่มความถี่ เพิ่มจำนวนรถ เพิ่มจำนวนรอบ ไปจนถึงการขยายเวลาการวิ่งให้บริการเป็น 24 ชั่วโมง ใน 4 เส้นทาง
ส่วนแผนระยะยาว ทางไทยสมายล์บัส มีแผนขยายการให้บริการในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการวิ่งรถในเส้นทางใบอนุญาตปัจจุบัน และการขยายให้บริการรูปแบบ Feeder เชื่อมต่อการขนส่ง ทั้งรถ-เรือ-ราง ทั้งยังเพิ่มการให้บริการกลุ่มลูกค้าองค์กรต่าง ๆ ซึ่งในปีหน้าเชื่อว่าจะมีรถเข้ามาให้บริการเพิ่มเป็น 3,100 คันตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ คาดการณ์ว่าจะมียอดผู้โดยสารใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 500,000 คน/วัน
นางสาวกุลพรภัสร์ กล่าวว่าได้รับทราบถึงความเห็นของผู้ใช้บริการ ที่อาจยังพบกับความไม่สะดวกในบางส่วน ทางบริษัทรับฟังและได้ทำการแก้ไขต่อเนื่อง เช่น รถเมล์ไฟฟ้าของ TSB ไม่จอดรับผู้โดยสาร วิ่งเลนขวา ทางบริษัทได้ลงทุนสร้างศูนย์ฝึกอบรมครบวงจร ที่จะปั้นพนักงานขับรถ “กัปตันเมล์” รุ่นใหม่เข้ามาให้บริการด้วยมาตรฐานที่ยกระดับขึ้น ทั้งยังปรับสิทธิประโยชน์รายได้ของพนักงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรม นอกจากนี้บริษัทได้เริ่มทดลองใช้ระบบ Fleet management ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กำกับการเดินรถ สามารถตรวจการเข้าป้าย ความเร็ว ปริมาณผู้โดยสารบนรถ ไปจนถึงการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ขับขี่-พนักงานผู้ให้บริการ จึงขอให้มั่นใจว่า การบริการของ TSB จะปรับปรุงแก้ไข พัฒนาบริการให้ดียิ่งขึ้นในทุกมิติ
นอกจากนี้ได้เปิดตัว รถเมล์ไฟฟ้าราคาประหยัด หรือ “รถ EV สีส้ม” ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ ที่มีกำหนดนโยบายว่าเอกชนผู้ได้รับใบอนุญาต ต้องดำเนินการจัดหาให้มีรถร้อน ออกให้บริการประชาชนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งทางบริษัทได้จัดหามาทั้งสิ้นจำนวน 60 คัน ขนาด 8 เมตร รองรับผู้โดยสารไม่เกิน 30 คนต่อคัน ค่าโดยสาร 10 บาทตลอด เพื่อนำไปเสริมการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น ในเฟสแรกจะให้บริการใน 10 เส้นทาง
ทั้งนี้ ได้แก่สายได้แก่ 1.สาย 4-26 (167 เดิม) เคหะธนบุรี-สถานีรถไฟฟ้าสวนลุมพินี จำนวน 5 คัน 2.สาย 2-35 (110 เดิม) ประชานิเวศน์ 3-เทเวศร์ จำนวน 5 คัน 3.สาย 1-13 (126 เดิม) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ-คลองตัน จำนวน 6 คัน 4.สาย 1-44 (113 เดิม) มีนบุรี-หัวลำโพง จำนวน 8 คัน 5.สาย 1-45 (115 เดิม) สวนสยาม-บางรัก จำนวน 6 คัน 6.สาย 1-15 (150 เดิม) ท่าเรือปากเกร็ด-มีนบุรี จำนวน 6 คัน 7.สาย 1-6 (52 เดิม) ท่าเรือปากเกร็ด-หมอชิตใหม่ จำนวน 5 คัน 8.สาย 2-8 (51 เดิม) วัดปรางค์หลวง-บางเขน จำนวน 5 คัน 9.สาย 4-51 (124 เดิม) หมู่บ้านเอื้ออาทรศาลายา-สนามหลวง จำนวน 6 คัน และ 10.สาย 4-63 (547 เดิม) หมู่บ้านเอื้ออาทรศาลายา-ถนนตก จำนวน 8 คัน
ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการ 1,000 คนต่อวัน หลังจากนั้น จะศึกษาผลตอบรับเพื่อนำไปพัฒนาการให้บริการต่อไปในอนาคต สำหรับ รถ EV สีส้ม ที่นำมาให้บริการนี้ เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ ที่มีกำหนดนโยบายว่า เอกชนผู้ได้รับใบอนุญาต ต้องดำเนินการจัดหาให้มีรถร้อน ออกให้บริการประชาชนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งรถ EV สีส้ม จะเป็นคันแรกของโลกกว่าได้ เพราะบริษัทฯ ได้นำรถโดยสารปรับอากาศ (รถแอร์) มาดำเนินการให้เป็นรถโดยสารธรรมดา (รถเมล์ร้อน) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบเทคโนโลยีเพิ่มเติม ประมาณ 500,000 บาทต่อคัน เพื่อไม่ให้เครื่องปรับอากาศ (แอร์) ออกมาภายในห้องโดยสาร
นางสาวกุลพรภัสร์ กล่าวว่า ในส่วนของไทย สมายล์ โบ้ท ได้มีการเสริมฟีดเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า รูปแบบใหม่ ขนาด 19 เมตร เป็นเรือ Catamaran พลังงานสะอาด 100% ซึ่งมีความแตกต่างในทางกายภาพจากเรือรูปแบบเดิมของบริษัท ด้วยขนาดที่กระทัดรัดคล่องตัวมากขึ้น เหมาะที่จะเดินเรือในเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาได้ในทุกสภาพอากาศแม้ช่วงน้ำขึ้น ปัจจุบันได้รับเพิ่มมาแล้วจำนวน 9 ลำ ส่งผลให้บริษัทมีฟลีทเรือให้บริการทั้งสิ้น 35 ลำ ซึ่งจะเข้าไปบริการในเส้นทาง Urban และ City Line ก่อนในช่วงแรก แล้วจึงขยายไปเส้นทาง Metro Line ตามความต้องการของผู้โดยสารในแต่ละเส้นทาง สร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้เดินทาง โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วน คาดว่าจะสามารถเพิ่มความถี่ให้บริการได้ ทุก 7-10 นาที พร้อมทั้งยังสามารถให้บริการกับลูกค้าองค์กร เช่น การเช่าเหมาลำ การวิ่งตามฟีดเส้นทาง หรือเรือนำเที่ยว ได้อีกด้วย