Monday, 23 December 2024 - 12 : 14 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

จับตา ‘แลนด์บริดจ์’ ซาอุฯตั้งคลังน้ำมัน 2 แสนล้าน

การเดินทางเยือนกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ของนายเศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) โดยมีกำหนดเข้าเฝ้า เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย หารือเรื่องการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการศึกษาเรื่องแลนด์บริดจ์ ซึ่งจะเป็นประเด็นสำคัญที่จะเชื่อมต่อโลจิสติกส์ทั่วโลก เป็นการให้ความมั่นใจกับซาอุฯที่สนใจเข้ามาลงทุนสร้างคลังน้ำมันขนาดใหญ่ในโครงการนี้ รวมไปถึงหารือกับภาคเอกชนต่างๆของซาอุฯด้วย

หลังจากประเทศไทยฟื้นความสัมพันธ์ประเทศมหาเศรษฐี “ซาอุดีอาระเบีย” ในรอบ 35 ปีทำให้ต้นปี 2565 กลายเป็นโอกาสให้กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ซาอุฯเข้ามาขยายฐานการลงทุนในประเทศไทยในลักษณะการร่วมหุ้นพันธมิตรธุรกิจกับ 4 กลุ่มทุนใหญ่ในไทย  เช่น บริษัท Saudi Food& Drug Authority (SFDA)เข้าถือหุ้นกลุ่มอาหาร CPF,TFG,GFPT ด้านบริษัทซาอุดี อารเบียน แอร์ไลน์ส ถือหุ้นท่องเที่ยวกับ AOT,ขณะที่กลุ่มทุนเฮลแคร์เข้าไปถือหุ่นในกลุ่มโรงพยาบาล BH-BDMH ด้านบริษัทยักษ์ใหญ่ภาคอุตสาหกรรมเข้าไปลงทุนในอีอีซีร่วมกับ กับ AMATA, WHA, BDMS, CENTEL, GPSC โดยคาดว่าปี 2566 จะมีเม็ดเงินจากกลุ่มทุนซาอุฯเข้ามาลงทุนสูงถึง 3  แสนล้านบาท กระจายในหลายอุตสาหกรรม เช่น ท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเมดิคัลแคร์ อุตสาหกรรมน้ำมัน และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายส่วนใหญ่ของซาอุดีอาระเบียอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี

อีกหนึ่งพื้นที่ที่ซาอุฯสนใจเข้าไปลงทุนคือ โครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือทั้ง 2 แห่งในจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง รับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Seaboard) หากโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นจริง ซาอุฯก็มีแผนที่จะลงทุนสร้างคลังน้ำมันและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งจะใช้เงินลงทุนมากกว่า 2 แสนล้าน ช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้กับภูมิภาคนี้ที่มีศักยภาพใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นโปรเจกต์ใหญ่หลายแสนล้านที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ รวมไปถึงอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ การแพทย์ โรงพยาบาล เวลเนส รองรับชาวซาอุฯที่มาเมืองไทยทั้งเพื่อการท่องเที่ยวและรักษาพยาบาล คาดว่าปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯเพิ่มขึ้น 150,000 คน สามารถสร้างรายได้ 1.2 หมื่นล้านบาท รวมถึงมีการเพิ่มเที่ยวบินจาก 9 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 42 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

รวมทั้งซาอุฯ ยังต้องการให้นักลงทุนไทยเข้าร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ , วัสดุก่อสร้าง , อาหารแปรรูป , ปุ๋ย และเคมีภัณฑ์ เนื่องจากไทยมีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมเหล่านี้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากซาอุฯ มีแผนการลงทุน Mega Project ในการสร้างเมืองและขยายเมือง เพื่อให้สอดรับกับแผน Saudi Vision 2030 

ในด้านการค้าขายระหว่างไทยกับซาอุฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ร่วมลงนามความร่วมมือ (MOU) การจัดตั้ง Joint Business Council (JBC) กับ The Federation of Saudi Chambers of Commerce (FSCC) เพื่อส่งเสริมการขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร อุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจบริการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องในซาอุฯ และสนับสนุนการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาทางการค้า ซึ่งคาดการณ์ว่าสามารถทำการค้าร่วมกันและซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่มีการลงนามจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย ทำให้การส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปซาอุดีอาระเบียมีแนวโน้มเติบโตได้สูง เพราะไทยถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก โดยเฉพาะอาหารฮาลาล ซึ่งมีความได้เปรียบทั้งด้านโลจิสติกส์และมีสินค้าที่มีความหลากหลายตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี โดยซาอุฯถือเป็นคู่ค้าลำดับที่ 17 ของไทยในตลาดโลกและเป็นคู่ค้าลำดับที่ 2 ของตะวันออกกลาง จากข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ปี 2566 ประจำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ มีมูลค่า 407.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 62.3%

สำหรับสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทยไปซาอุดีอาระเบีย  ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.2566 ประกอบด้วย  1.รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนต์ มูลค่า 214.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 2.อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 36.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 3.ผลิตภัณฑ์ยาง 26.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 4. ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 5.เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล 22.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 6. เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 13.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 7.ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และส่วนประกอบ 7.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 8.ข้าว 4.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 9.เคมีภัณฑ์ 4.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 10. เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ 3.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ซาอุฯ มีแผนที่จะนำเข้าต้นไม้จากทั่วโลกเพื่อให้บรรลุตามนโยบายซาอุดีอาระเบียสีเขียว เพื่อเปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีชีวิตชีวา โดยการปลูกต้นไม้ 10,000 ล้านต้น และจะร่วมมือกับประเทศสมาชิก GCC ในการปลูกต้นไม้ในตะวันออกกลางเพิ่มอีก 40,000 ล้านต้น รวมทั้งสิ้นภูมิภาคนี้จะต้องการต้นไม้ 50,000 ล้านตัน ซึ่งปัจจุบันไทยได้ส่งต้นไม้ไปยังซาอุฯ แล้วกว่า 200,000 ต้น 

© 2021 thairemark.com