ครม. คลอดมาตรการสินเชื่อ “อิ่มใจ ช่วยร้านอาหาร” มีที่ตั้งถาวร ให้กู้ร้านละ 1 แสนบาท
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่กลับมามีความรุนแรงและเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข นำไปสู่การออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมไปถึงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการสั่งปิดสถานที่และระงับการให้บริการของสถานบริการต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ มีรายได้ลดลงและขาดสภาพคล่อง เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบมาตรการสินเชื่ออิ่มใจเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มให้มีสภาพคล่องที่เพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
มาตรการสินเชื่ออิ่มใจ วงเงิน 2,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นร้านจำหน่ายแบบถาวร เช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารที่เปิดในห้องแถวหรืออาคารพาณิชย์ ภัตตาคาร ร้านที่มีลักษณะเป็นบูธ เป็นต้น ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติวงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุด 100,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี (Effective Rate) ระยะเวลากู้ไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
นายอาคม กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นร้านแบบเคลื่อนที่ได้ เช่น หาบเร่ แผงลอย รถเข็น เป็นต้น สามารถเข้าร่วมมาตรการสินเชื่อผ่อนปรนของรัฐบาลที่มีอยู่ ได้แก่ มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 10,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนแรก รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 หรือโครงการอื่น ๆ ที่ธนาคารออมสินดำเนินการเอง เช่น สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน สินเชื่อ Street Food เป็นต้น
กระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนและผู้ประกอบการให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั่วถึง และเพียงพอ โดยได้มีการติดตามผลการดำเนินมาตรการอยู่เป็นระยะ รวมถึงพิจารณาข้อจำกัด ปัญหาอุปสรรคของการดำเนินมาตรการ และผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด เพื่อปรับปรุงและออกมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อดูแลประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงทีต่อไป