Sunday, 24 November 2024 - 11 : 31 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

บทพิสูจน์พลังเยาวชนเมืองน่าน การเติบโตที่ยั่งยืนของ DNYC ไม่ใช่แค่เด็กทำกิจกรรม แต่คือการค้นพบศักยภาพตัวเอง

กองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน หรือชื่อตัวย่อว่า DNYC คือกลุ่มเด็กๆและเยาวชนเมืองน่าน หลากหลายโรงเรียน มาจากหลายชุมชน มีช่วงอายุตั้งแต่ระดับมัธยมต้น จนถึงระดับมัธยมปลาย ที่รวมตัวกันเพื่อขอมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนถิ่นเกิด และเป็นพลังที่จะขับเคลื่อนเมืองน่าน ในฐานะลูกหลานคนรุ่นใหม่ การก่อตัวของ DNYC เริ่มต้นในช่วงปี 2558 โดยมี สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นหน่วยงานพี่เลี้ยงให้การสนับสนุน เปิดพื้นที่และโอกาสให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพและการทำงานร่วมกัน ทำให้เด็กๆที่มาร่วมกิจกรรมในฐานะสมาชิกกองทุนฯ ได้ทดลองทำงานที่หลากหลาย จนสามารถค้นพบศักยภาพในตัวเอง และเห็นแนวทางการศึกษาต่อในสาขาวิชาระดับที่สูงขึ้น รวมไปถึงเห็นโอกาสการประกอบอาชีพได้

นายณัฐภัทร บุญทิพย์ หรือ น้องพาสเทล อายุ 19 ปี เด็กทำกิจกรรมด้านงานถ่ายภาพและผลิตสื่อ ของสภานักเรียน โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารจังหวัดน่าน ซึ่งในช่วงนั้นกำลังเรียนในระดับ ม.5 ยังมีความสับสนว่าอยากเรียนต่อในทางสายรัฐศาสตร์การปกคอรง หรือ อยากเรียนทางสายด้านนิเทศศาสตร์ ตอนนั้นยังไม่ได้ตัดสินใจว่าเบนเข็มไปเรียนต่อทิศทางไหนดี แต่ก็อยากทำงานถ่ายภาพผลิตสื่อ อยากได้ลองทำงานด้านนี้มากๆ จนเพื่อนแนะนำให้ลองมาร่วมกิจกรรมกับกองทุนฯ DNYC ซึ่งเพื่อนก็เป็นสมาชิกอยู่ และได้สมัครเป็น DNYC รุ่นที่ 6 โดยช่วงนั้น กองทุนฯDNYC กับ อพท.6 มีการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์และกิจกรรมเวิร์คช๊อป ทำให้ได้รับโอกาสและถูกมอบหมายงานให้เป็นช่างภาพและผลิตสื่อคลิปวิดิโอ เพื่อการประชาสัมพันธ์ ก็สนุกเพราะเป็นงานถนัด ทำให้ต้องเรียนรู้และฝึกฝนทักษะ ผ่านโปรแกรมตัดต่อต่างๆ

ทั้ง Adobe Premiere Pro และ Adobe After Effects ได้ไปร่วมทำงานการไลฟ์สด กับทีมวิทยาลัยเทคนิคน่าน ยิ่งชอบ ยิ่งสนุกและตื่นเต้นกับอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้ผมชัดเจนและแน่ใจมากยิ่งขึ้น ว่าผมมีความสุข สนุกและอยากเรียนด้านนี้จริงๆ ซึ่งตอนนี้ผมกำลังเดินตามแรงบันดาลใจและความฝัน โดยกำลังศึกษาอยู่ที่คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 2 ถึงแม้ว่าช่วงปีแรกส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องทฤษฎี แต่ก็มีคาบเรียนที่ได้เข้าสตูดิโอ ซึ่งผมยิ่งตื่นเต้น เพราะมีอุปกรณ์การทำงานเยอะแยะมากมาย ได้ทำงานด้าน Video Edito เรียนรู้เรื่องกล้อง เรื่องสวิตเชอร์ ซึ่งถนัดและชอบมาก ผมใช้เวลาศึกษาและอยู่กับห้องสตูดิโอของคณะมากที่สุด ชอบให้มีโจทย์ยากๆ โจทย์ใหม่ๆ เพื่อใช้ความคิดสร้างสรรค์ แล้วขณะนี้ก็สามารถใช้ทักษะนี้ รับจ้างทำงานวิดิทัศน์ให้กับหน่วยงานต่างๆ มีรายได้ระหว่างเรียนด้วย โดยตั้งใจว่าเมื่อเรียนจบจะกลับมาสร้างงานและทำงานที่น่านบ้านเกิด โดยมีเพื่อนๆ DNYC ที่ชอบและเรียนสาขาด้านนี้เหมือนกัน มีแนวคิดว่าเมื่อเรียนจบก็จะมารวมตัวกันตั้งบริษัทเพื่อทำงานด้านการผลิตสื่อและออแกไนเซอร์ให้กับจังหวัดน่าน

“สิ่งที่ผมได้จากการเป็น DNYC คือผมได้ค้นพบตัวเอง ทำให้รู้ว่าต้องพัฒนาศักยภาพของตัวเองไปในทิศทางไหน ถ้ามีศักยภาพอยู่แล้ว ก็ได้พัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เราได้รับโอกาสมากกว่าคนอื่น เพราะว่าการได้มาทำกิจกรรมตรงนี้มันสร้างประสบการณ์และเติมเต็มเรา ส่วนคนที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ ก็สามารถลองทำกิจกรรมต่างๆเพื่อค้นหาตัวเอง และพัฒนาศักยภาพนั้นได้ ผมว่า กองทุนฯมีอะไรอีกหลายอย่างที่ทำให้เราได้พัฒนาตัวเอง และทุกครั้งที่ DNYC มีกิจกรรม ผมจะหาโอกาสมาช่วยงานอยู่เสมอ รวมทั้งช่วยสอนน้องๆรุ่นหลังๆที่ชอบและรักงานถ่ายภาพและผลิตสื่อด้วย” น้องเทลกล่าวเพิ่มเติมเพื่อชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่ได้รับจากกองทุนฯระยะเวลา 8 ปี กองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน DNYC มาถึงรุ่นที่ 8 แล้ว สมาชิกของกองทุนฯ มีการขยายตัวมากขึ้น ขณะที่สมาชิกรุ่นพี่ ก็เรียนจบหรือใกล้จะจบการศึกษา การคิดต่อยอดให้ DNYC มีความยั่งยืนไม่ล้มหายไป คือการทำให้บัณฑิตคืนถิ่นกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง

นางสาวกนกนันท์ คำอุตตา หรือ น้องชมพู่ อายุ 19 ปี ประธานกองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน DNYC รุ่นที่ 8 ปัจจุบันเรียน ปวส.2 สาขาการบัญชี วิทยาลัยเทคนิคน่าน เล่าว่า ได้เห็นกิจกรรมที่เพื่อนๆไปร่วมกับ DNYC ผ่านทางเพจ เกิดความสนใจและอยากมีประสบการณ์บ้าง จึงได้สมัครและได้มีโอกาสทำงานที่หลากหลาย ทำให้ได้พัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องการเป็นผู้นำและทักษะการพูด ซึ่งจากเป็นคนอินโทรเวิร์ต ก็กล้าที่จะพูดต่อหน้าสาธารณะมากขึ้น เพราะมีบทบาทหน้าที่ในฐานะประธานรุ่น การได้เข้ามาเป็นสมาชิกของ DNYC ทำให้ได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างมาก และยังได้ใช้ทักษะการวาดรูป ช่วยวาดสติกเกอร์โปรโมทและประชาสัมพันธ์ให้ชุมชน “หัวเวียงใต้ ย่านสร้างสรรค์” เป็นการทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งก็ทำให้เราได้พัฒนาความคิดและการทำงานร่วมกัน

น้องชมพู่ ยังบอกเล่าเพิ่มเติมอีกว่า “สิ่งหนึ่งที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ มักถูกตั้งคำถามหลังเรียนจบว่า กลับน่านแล้วจะมาทำอะไร ทำให้ DNYC มีแนวคิดจากกิจกรรมพัฒนาศักยภาพของเยาวชนและชุมชนที่มี นำมาต่อยอดออกแบบเป็นกิจกรรมการเรียนรู้และการฝึกการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น พร้อมวางแผนในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาที่ตรงศักยภาพ เพื่อนำเอาความรู้มาต่อยอดอาชีพกลับมามีงานทำที่น่าน เป็นจุดเริ่มต้นจัดตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ลองน่าน (LONG NAN) หมายถึง อยู่น่านนานๆ เพื่อรองรับการกลับมาทำงานในท้องถิ่นของคนรุ่นใหม่ที่อยากกลับมามีอาชีพดูแลครอบครัว และกลับมาพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนให้เกิดความยั่งยืนด้วยคนที่เกิดและโตในเมืองน่าน ซึ่งขณะนี้ได้นำทักษะต่างๆ มาร่วมกัน ช่วยกันสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายได้แล้ว”

การก้าวเดินและเติบโตของเยาวชน กองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน DNYC ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง 8 ปี จากเยาวชนที่ชวนกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์ หาเงินออกค่ายอาสาพาทำดี ช่วยเหลือน้องๆโรงเรียนขนาดเล็ก จนมีพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการ ผ่านกิจกรรมกาดหมั้วคัวละอ่อน ที่รับออกบูธงานแสดงต่างๆ การจัดการแสดง เวทีประกวดของเยาวชน ล้วนเสริมเขี้ยวเล็บความเก่งเป็นทักษะชีวิตติดตัวให้กับน้องๆ เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับคนทุกช่วงวัย และแนวความคิดต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนด้วยกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมให้เป็นพื้นที่สร้างโอกาสทางอาชีพสำหรับบัณฑิตกลับถิ่น ถือเป็นกลุ่มเยาวชนลูกหลานเมืองน่าน ที่มีศักยภาพในการพัฒนาและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเมืองน่านในอนาคต

© 2021 thairemark.com