4 ผลไม้ใต้ “ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง” ปี 66 พุ่ง กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เกือบ 900,000 ตัน “ส่งสัญญาณความเสี่ยง” 1. ดอกบานต่อยอด 2. เข้าสู่ภาวะเอลนิโญ 3. พายุฤดูร้อนกรรโชก ระบุ ทุเรียนหน้าสวน 80 บาท / กก.
รายงานข่าวจากนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง ว่า ทุเรียนภาคใต้ในปี 2566 มีปัจจัยเสี่ยง 3 เรื่อง คือ 1. เรื่องระบบน้ำที่จะเข้าสู่ภาวะเอลนิโญ 2. พายุฤดูร้อนส่งผลให้ลูกทุเรียนที่แขวนอยู่บนต้น อายุ 80-90 วัน จะมีน้ำหนักมาก เมื่อถูกพายุกรรโชกแรงกิ่งจะหักร่วงหล้น และ 3. อาจจะเกิดดอกบานแล้วต่อยอด ภาวะเอลนิโญต้องมีความพร้อมเรื่องน้ำ พายุฤดูร้อนต้องมีการผูกโยงกิ่งและลูก ถูกลมกรรโชกแรงทำให้กิ่งหักร่วงหล่น ได้รับความเสียหาย
ส่วนภาวะทุเรียนขณะนี้ทางภาคตะวันออก จ.จันทบุรี จ.ตราด จะปิดฉากการเก็บเกี่ยวประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ แล้วมาทุเรียนทางภาคใต้ ก็เริ่มสตาร์ทออกสู่ตลาดทางโซนอันดามัน จ.ระนอง จรดมาถึงชุมพร และจะปิดท้ายที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ประมาณเดือนสิงหาคม 2566 นี้
และจากนั้นก็จะเข้าสู่ฤดูกาลทุเรียนนอกฤดู ที่ จ.จันทบุรี ต่อ แล้วจะต่อเนื่องทุเรียนนอกฤดู มาปิดท้ายทางภาคใต้ ประมาณเดือนมกราคม 2567
นักวิชาการ กล่าวอีกว่า สานการณ์ทุเรียนขณะนี้มีผลผลิตตลอดทั้งปี และสร้างรายได้ตลอดเพราะมีการทำสวนทั้งในฤดูและนอกฤดู โดยเฉพาะทุเรียนนอกฤดูจะมีการทำกันมากขึ้น
“ส่วนราคาจากการวิเคราะห์ในกลุ่มผู้ตัดทุเรียน พ่อค้าทุเรียน ประมาณว่าในปี 2566 ฤดูกาลนี้ ราคาที่ออกจากหน้าสวนจะไม่ต่ำกว่า 80 บาท / กก. โดยในส่วนของทุเรียนหมอนทอง”
นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จ.สงขลา เปิดเผยว่า ทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จสงขลา ร่วมกับ นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จ.สุราษฎร์ธานี และคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้ สัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำข้อมูลเอกภาพไม้ผลภาคใต้ และวิเคราะห์ฐานข้อมูลประเมินสถานการณ์การออกดอกติดผลและการกระจายผลผลิตไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ ปี 2566 ครั้งที่ 2 วันที่ 18-19 พฤษภาคม 2566 ห้องประชุมศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จ.สุราษฎร์ธานี
และผลจากการสัมมนาไม้ผลในภาคใต้ ได้สรุปข้อมูลเอกภาพไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ 4 ชนิด ในปี 2566 เช่น ทุเรียน ซึ่งมีเนื้อที่ยืนต้น จำนวน 726,369 ไร่ ได้เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึงร้อยละ 7.27 โดยมีเนื้อที่ที่ให้ผลแล้วจำนวน 547,225 ไร่ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึงร้อยละ 7.47 และมีผลผลิตรวมประมาณ 667,338 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 48.73 ซึ่งทุเรียนจะมีผลผลิตต่อเนื้อที่ที่ให้ผลประมาณ 1,219 กก./ไร่
“ผลผลิตทุเรียนในฤดูกาลปี 2566 จะออกตัวสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายน -เดือนตุลาคม ถึงจำนวน 589,925 ตัน และจะมีผลผลิตออกมากสุดในเดือนกรกฎาคม ถึงร้อยละ 28.82”
นายอนุชา กล่าวอีกว่า ในส่วนของมังคุดนั้นมีเนื้อที่ยืนต้น จำนวน236,408 ไร่ ได้ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 2.01 จึงมีเนื้อที่ให้ผล 227,478 ไร่ ซึ่งลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 0.79 ส่วนผลผลิตรวมประมาณ 142,077 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึงร้อยละ 408.71 โดยมีผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลประมาณ 625 กก. / ไร่
ผลผลิตมังคุดในฤดูกาลปี 2566 จะออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายน -เดือนตุลาคม จำนวน 136,965 ตัน ซึ่งจะมีผลผลิตมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม ร้อยละ 33.70
ส่วนเงาะ มีเนื้อที่ยืนต้นประมาณ 66,098 ไร่ โดยลดลงจากปี 2565 ถึงร้อยละ 6.52 เนื้อที่ให้ผล 64,639 ไร่ ได้ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 6.51 และได้ผลผลิตรวมประมาณ 52,804 ตัน ได้เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 95.88 และโดยมีผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล 817 กก. / ไร่
ผลผลิตเงาะในฤดูกาลปี 2566 จะออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายน -เดือนตุลาคม จำนวน 51,823 ตัน ซึ่งจะมีผลผลิตมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม ร้อยละ 50.36
และในส่วนของลองกองนั้น ซึ่งมีเนื้อที่ยืนต้นประมาณ 110,181 ไร่ ได้ลดลงจากปี 2565 ถึงร้อยละ 11.41 มีเนื้อที่ให้ผล 109,607 ไร่ ได้ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 10.72 โดยมีผลผลิตรวม 32,899 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 65 ร้อยละ 1,497.04 โดยมีผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล 300 กก. / ไร่ โดยจะออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนตุลาคม 2566 นี้ จำนวน 30,539 ตัน ซึ่งจะมีผลผลิตมากที่สุดในเดือนกันยายน ถึงร้อยละ 46.65
นายอนุชา กล่าวอีกว่า ผลผลิตไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ภาพรวมแล้วจะมีผลผลิตประมาณ 895,118 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 77.03 เหตุเพราะว่า ในปี 2565 มีฝนตกชุกตลอดทั้งปีทำให้ไม้ผลมีผลผลิตน้อยมาก ต้นผลไม้จึงมีการสะสมอาหารสมบูรณ์เต็มที่
และในปี 2566 สภาพภูมิอากาศเหมาะสมทำให้มีผลผลิตจำนวนมากขึ้น และจากสภาพอากาศหลังจากออกดอกติดผลพบว่ามีช่วงแล้งติดต่อกันยาวนาน มีผลทำให้ผลผลิตบางส่วนเสียหายด้วยเช่นกัน
“ในส่วนของทุเรียนนั้นทุกจังหวัด ได้มีมาตรการป้องปรามทุเรียนด้อยคุณภาพที่จะออกสู่ตลาด โดยการสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการในการตัดทุเรียนคุณภาพ เพื่อป้องกันทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด ซึ่งจะมีผลผระทบต่อราคาทุเรียนในภาพรวมด้วย” นายอนุชา กล่าว.