ในหลวง-พระราชินีเสด็จฯ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญปี 2566 พระโคกินหญ้า-เหล้า เชื่อน้ำท่าบริบูรณ์พอควร เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง
17 พ.ค.2566 – เมื่อเวลา 8.34 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต มายังพลับพลาที่ประทับเพื่อเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2566 ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธีรวมกันคือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งเป็นการประกอบพระราชพิธีวันแรกที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ในวันพที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ โดยประกอบพระราชพิธีในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการซึ่งกระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและส่งเสริม บำรุงขวัญเกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก กำหนดจัดขึ้นในราวเดือนหกของทุกปี หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย
การจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีนี้ ผู้ทำหน้าที่ พระยาแรกนาคือ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเทพีคู่หาบทอง เทพีคู่หาบเงิน จำนวน 4 ราย และคู่เคียงในกระบวนแห่อิสริยยศพระยาแรกนา จำนวน 16 ราย ส่วนพระโคแรกนาขวัญ ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง
สำหรับผลการพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ถวายรายงานการพยากรณ์ ผลการเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกาย และพระโคกินเลี้ยง เนื่องในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ.2566 โหรหลวงได้ให้คำพยากรณ์ว่า พระยาแรกนาเสี่ยงทายผ้าสำหรับนุ่งไปประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ดังนี้ เสี่ยงผ้านุ่งปีนี้พยากรณ์ว่า น้ำสำหรับปีนี้จะมีปริมาณพอดีข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะสมบูรณ์ดี
การเสี่ยงทายพระโคกินเลี้ยงของกิน 7 สิ่ง ปีนี้พระโคกินหญ้า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอควร พร้อมด้วยธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร อุดมสมบูรณ์ดี
เหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้นกับการค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง
สำหรับ พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง โดยพระโคพอ มีความสูง 165 เซนติเมตร ความยาวลำตัว225 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 214 เซนติเมตร อายุ 11 ปี ส่วนพระโคเพียง มีความสูง 169 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 238 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 209 เซนติเมตร อายุ 11 ปี พระโคสำรอง ได้แก่ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล ซึ่งเป็นโคพันธุ์ขาวลำพูน