Sunday, 24 November 2024 - 1 : 16 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

รพ.พุทธโสธรเมืองแปดริ้วใช้ ‘Platform Social Telecare’ ดูแลผู้ป่วยเปราะบางกลุ่มคนพิการ

โรงพยาบาลพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ร่วมกับมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับ สนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการพัฒนาเสริมสมรรถนะกลไกและเครือข่ายการดูแลทางสังคมของสหวิชาชีพ โดยใช้ Platform Social Telecare ดูแลผู้ป่วยเปราะบางกลุ่มคนพิการ

นายเจษฎา เหรียญทอง หัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ กล่าวว่า ผู้ป่วยเปราะบางกลุ่มคนพิการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลพุทธโสธร อยู่ใน 3 อันดับแรกจากกลุ่มผู้ป่วยทั้งหมด จากการ ใช้ Platform Social Telecare บันทึกข้อมูลและประเมินความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของผู้ป่วย ข้อดีคือเกิดระบบการทำงานที่ทำให้วิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ชัดเจน รวดเร็วขึ้น แบ่งกลุ่มผู้ป่วยออกเป็น กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว สีเหลือง และสีแดง และวิเคราะห์ปัญหาหลักของกลุ่มผู้ป่วยในพื้นที่เป้าหมาย สามารถนำมาจัดกิจกรรมส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยให้ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ช่วยเหลือทางสังคมตามความต้องการจำเป็นและแก้ไขปัญหาได้ โครงการได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนระหว่าง นักวิชาชีพต่าง ๆ ในโรงพยาบาลร่วมกับเครือข่ายบริการในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้เกิดการบูรณาการงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ด้านนางสาวศรินรัตน์ ล้อทองพาณิชย์ นักสังคมสงเคราะห์ กล่าวว่า การใช้ Platform Social Telecare ทำให้นักสังคมสงเคราะห์บันทึก และสืบค้นข้อมูลของผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น ลดความเสี่ยงเรื่องข้อมูลสูญหาย และยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลและจัดเรียงลำดับความสำคัญความเร่งด่วนของผู้ป่วยได้ ช่วยลดขั้นตอนการทำงาน ซึ่งจากข้อสังเกตที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ทำให้เห็นว่าสามารถสร้างพื้นที่เพื่อให้นักสังคมสงเคราะห์ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับชุมชน เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานในระดับท้องถิ่น และระดับจังหวัด ทำให้ความสัมพันธ์ของเครือข่ายในจังหวัดฉะเชิงเทรามีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และคาดหวังว่าจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายจังหวัดอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

นางสาวปรียาพัชญ์ ศรีจิรวัฒน์ อสม.ชุมชนสถานีรถไฟ กล่าวว่า ในฐานะที่รับหน้าที่ดูแลผู้พิการและคนยากไร้ในชุมชน เมื่อมีกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ป่วยพิการจะช่วยในเตรียมพร้อมและปฏิบัติตามขั้นตอนเพื่อตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลโดยกรณีที่ผู้ป่วยไม่สะดวกเดินทางไปด้วยตัวเองจะใช้วิธีอัดคลิปวิดีโอตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ ส่งไปให้เจ้าหน้าที่เพื่อให้แพทย์พิจารณาประเมินความพิการและออกเอกสารรับรองความพิการ ทำให้การประสานงานกับโรงพยาบาลเพื่อช่วยเหลือคนพิการทำได้รวดเร็วขึ้น และเมื่อมีการประชุมหาแนวทางแก้ไขกรณีผู้ป่วยไม่สบายใจที่จะรักษาที่ตัวที่บ้าน ด้วยความไม่พร้อมเรื่องผู้ดูแล รายจ่าย สุขภาพจิตที่มีความกังวล ความเครียด เครือข่ายจะมีการหาแนวทางแก้ไขร่วมกันเพื่อให้ผู้ป่วยคนพิการอยู่บ้านอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ การฟื้นฟูสุขภาพจิต และมีความสุข ซึ่งจากการเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในการทำงานร่วมกันในการแก้ปัญหาให้กับผู้พิการ

© 2021 thairemark.com