กรมประมง ประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางปี 66 ครอบคลุม ประจวบฯ ชุมพร และ สุราษฎร์ฯ แบ่ง 2 ช่วง 15 ก.พ. – 15 พ.ค. และ 16 พ.ค. – 14 มิ.ย. เผยที่ผ่านมาปลาทูในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น 64% มูลค่ากว่า 2 พันล้าน
กรมประมง ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน บริเวณอ่าวไทยตอนกลาง (มาตรการปิดอ่าว) โดยครอบคลุมเขตพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี เป็นเวลา 2 ช่วง คือ ช่วงแรก ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึง อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ 26,400 ตารางกิโลเมตร เพื่อคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์ปลาทูได้วางไข่
และช่วงที่สอง อาณาเขตตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ 5,300 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. – 14 มิ.ย. 2566 เพื่อให้ลูกปลาทูได้มีโอกาสเจริญเติบโตเดินทางเข้าสู่พื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก เพื่อให้ปลาทูสาวได้เจริญเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป โดยมีการควบคุมการทำประมงเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงและส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งจากการศึกษาทางวิชาการ พบมาตรการมีความสอดคล้องกับวงจรชีวิตปลาทู คือ เป็นช่วงที่ปลาทู มีความสมบูรณ์เพศสูงสุด สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน บริเวณอ่าวไทยตอนกลาง มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจโดยเฉพาะปลาทู ให้สามารถวางไข่ แพร่ขยายพันธุ์ และคุ้มครองลูกสัตว์น้ำให้สามารถเจริญเติบโตทดแทนสัตว์น้ำที่ถูกจับไป ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญของกรมประมง ที่ทำมายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 และได้มีการปรับปรุงประกาศให้สอดคล้องกับสภาวะทรัพยากรและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา
อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบัน กรมประมงใช้ประกาศ ฉบับลงวันที่ 31 มกราคม 2561 เรื่อง กำหนดพื้นที่ และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี โดยแบ่งการใช้มาตรการออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม 2566 เป็นระยะเวลา 90 วัน และช่วงที่ 2 ต่อด้วยอาณาเขตตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 16 พ.ค. – 14 มิ.ย. 2566 เป็นระยะเวลา 30 วัน โดยห้ามใช้เครื่องมือที่มีผลกระทบต่อพ่อแม่พันธุ์และลูกพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน และอนุญาตให้ใช้เฉพาะเครื่องมือประมงบางชนิดของกลุ่มเรือประมงขนาดเล็ก ซึ่งไม่กระทบกับมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง ดังนี้
(1) เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 16 เมตร ต้องทำการประมงในเวลากลางคืนและทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
(2) เครื่องมืออวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส มีช่องตาอวนตั้งแต่สองนิ้วขึ้นไป
สำหรับกรณีการทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งความยาวอวนที่ใช้จะต้องไม่เกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ และหากจะใช้ความยาวอวนเกินกว่า 2,500 เมตร จะต้องใช้บริเวณนอกเขตทะเลชายฝั่ง เท่านั้น
(3) เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง
(4) เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
(5) ลอบปู ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด
(6) ลอบหมึกทุกชนิด
(7) ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้านทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง
(8) คราดหอย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด
(9) อวนรุนเคย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยประกาศกระทรวงฯ
(10) จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก และเครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง
(11) เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบเครื่องมือทำการประมงที่มิใช่เครื่องมือตามประเภท วิธีการทำการประมงที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนดให้เป็นประมงพาณิชย์ทำการประมง ยกเว้น อวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) และเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 ที่ไม่สามารถทำการประมงได้
สำหรับช่วงที่ 2 (16 พ.ค. – 14 มิ.ย. 2566) มีข้อกำหนดที่เป็นรายละเอียดมากกว่าข้างต้น ดังนี้
อนุญาตให้เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง ไม่ได้จำกัดความยาวของเรือที่ใช้ทำการประมง และเวลาในการทำการประมง ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่งของพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ประกอบเรือกลที่มีขนาด 10 ตันกรอส อนุญาตให้ทำการประมงได้นอกเขตทะเลชายฝั่ง เฉพาะบริเวณเขตต่อเนื่องปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ปริมาณการจับปลาทูในอ่าวไทยปีที่ผ่านมา (ปี 2565) จับได้ถึง 31,999 ตัน มูลค่า 2,156.01 ล้านบาท มากกว่าผลจับของปี 2564 (19,598 ตัน มูลค่า 1,375.38 ล้านบาท) ถึง 12,402 ตัน มูลค่า 780.63 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 63.28 ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันดีที่แสดงถึงความเหมาะสมของการใช้มาตรการปิดอ่าวไทยอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามในการติดตามประเมินผลทางวิชาการของมาตรการฯ พบว่าในห้วงเวลาก่อนการประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลาง ช่วงวันที่ 1 – 14 กุมภาพันธ์ พบพ่อแม่ปลาทูมีความสมบูรณ์เพศในอัตราที่สูง ติดต่อกัน 2 ปี (ปี 2564 และ ปี 2565) โดยในปี 2564 พบมากถึง ร้อยละ 90.60 (เพศเมีย) 90.37 (เพศผู้) และ ปี 2565 ร้อยละ 100 (เพศเมีย) 87.04 (เพศผู้)
อธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า จากที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่าปลาทูมีความสมบูรณ์เพศก่อนช่วงมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง และพบความยาวเฉลี่ยของ พ่อ-แม่ ปลาทูอยู่ที่ 18.5 เซนติเมตร ซึ่งพร้อมสืบพันธุ์วางไข่ จึงมีข้อเสนอแนะทางวิชาการว่า เห็นควรปรับปรุงมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง ให้สอดคล้องกับสภาวะทรัพยากรและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และให้จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยอย่างไรก็ดีเพื่อไม่ให้กระทบต่อชาวประมง กรมประมงจึงคงใช้มาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง ตามประกาศฉบับเดิม ลงวันที่ 31 มกราคม 2561 เรื่อง กำหนดพื้นที่ และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ กรมประมงจะมีการศึกษาทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง และรอบด้านเพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงมาตรการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป ดังนั้น ในช่วงวันที่ 1 – 14 กุมภาพันธ์ 2566 (ก่อนมาตรการปิดอ่าว) กรมประมงจึงขอเชิญชวนให้พี่น้องชาวประมงช่วยกันคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์ปลาทู เพื่อเปิดโอกาสให้พ่อแม่พันธุ์ปลาทูสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้
นายเฉลิมชัย กล่าวด้วยว่า สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตลอดมา และขอให้พี่น้องชาวประมง ระมัดระวังการทำประมงโดยให้ทำประมงเฉพาะเครื่องมือที่ประกาศให้ใช้ได้เท่านั้น เครื่องมืออื่นๆ ห้ามทำโดยเด็ดขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 30 ล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย
อย่างไรก็ดี กรมประมงยังมุ่งหวังให้มาตรการปิดอ่าวไทยฯ ในแต่ละห้วงเวลานั้นสามารถทำให้เกิดกระบวนการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตปลาทูแต่ละช่วงวัย ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ชาวประมงเกิดความตระหนักในการทำประมงได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่าและเกิดความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำและเกิดความสมดุลกับการประกอบอาชีพของพี่น้อง และได้เน้นย้ำการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้ยึดหลัก 3 ป. คือ การป้องกัน การป้องปราม และการปราบปราม พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญด้วย ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.