ฟังเสียงคนไทยพร่ำบ่นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คือ “ของแพง” โดยเฉพาะอาหารที่มีการปรับราคาต่อเนื่องจากเหตุผลหลักคือต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนพลังงาน และต้นทุนปัจจัยการผลิตและการป้องกันโรคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มแรงมากถึง 30% สินค้าสำคัญ คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคปศุสัตว์ที่พึ่งวัตถุดิบชนิดนี้เฉลี่ย 50-70% ทั้ง ไก่ ไข่ไก่ และสุกร ตามลำดับ จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด ให้สามารถเดินหน้าธุรกิจได้โดยไม่หยุดชะงัก
สำหรับอาหารที่เข้าถึงง่ายที่สุดสำหรับคนทุกเพศทุกวัยทั่วโลกอย่าง “ไข่ไก่” ในประเทศไทยเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการปรับราคา เสียงบ่นอื้ออึงก็จะตามมา ขณะที่ภาคเกษตรกรก็สุดอั้นกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ราคาไข่ไก่ขอปรับบ้าง ส่วนภาคผู้บริโภคล่าสุดจากการปรับราคาไข่คละหน้าฟาร์มอีก 20 สตางค์ต่อฟอง ก็ร้องว่า…ขึ้นอีกแล้ว หรือไข่ราคาพุ่งบ้าง ลำบากแน่…ทั้งที่ความจริง 2 เดือนก่อนหน้าราคลงไป 20 สตางค์ ต่อฟอง ตามกลไกตลาด ซึ่งกรมการค้าภายในออกมายืนยัน ว่า ราคาไข่ไก่เพิ่มขึ้น 20 สตางค์ จาก 3.40 บาทต่อฟอง เป็น 3.60 บาทต่อฟอง ภาครัฐมีการติดตามใกล้ชิดและได้ตรวจสอบแล้วว่า การปรับราคาไข่ไก่ดังกล่าวเป็นไปตามอุปสงค์-อุปทาน สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะอาหารสัตว์ และยังไม่เกินราคาที่กรมฯ กำกับดูแลอยู่ ให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตอยู่ได้อย่างสมดุล
ไทยเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคที่ราคาไข่ไก่เข้าถึงได้ง่ายมาก หากเปรียบเทียบกับประเทศทางตะวันตกราคาไข่ไก่ (ปกติ) เฉลี่ยต่อฟองสูงกว่า 5 บาท ขณะที่ราคาไข่ไก่คุณภาพพิเศษราคาเกิน 10 บาทต่อฟอง สะท้อนให้เห็นราคาตามคุณภาพและกลไกตลาด ของคุณภาพดี ราคาสูงตามต้นทุน
ได้ถามผู้สูงวัยอายุ 60 ปี ท่านหนึ่ง ว่า ไข่ไก่ในสมัยก่อนราคาฟองละเท่าไร คำตอบที่ได้รับคือไม่เกิน 1 บาทต่อฟอง แล้วขยับขึ้นมาเรื่อยจนวันนี้ ผู้สูงวัยท่านเดิมซื้อไข่ที่ราคา 4-5 บาทต่อฟอง (ราคาที่ตลาดสด) เมื่อเทียบกับราคาน้ำมัน ราคาทองคำ ปรับขึ้นมากกว่าเท่าตัว หรือราคาสินค้าอาหารประเภทอื่นๆ เช่น น้ำมันพืช ราคาปรับสูงขึ้นมากกว่าไข่ไก่หลายสิบเท่าตัว แต่ผู้บริโภครับราคาได้ ไม่ปริปากบ่นกลับมองว่าเป็นสินค้าจำเป็น ทั้งที่ราคาไข่ไก่ในแต่ละช่วงของปี ราคาปรับขึ้น-ลงตามวัฏจักรความต้องการ เช่น ช่วงปิดเทอม ซึ่งความต้องการไข่ลดลง ราคาตกต่ำเหลือฟองละ 2.50 บาท ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่วงเศรษฐกิจไม่ดีกำลังซื้อหดหาย แทนที่จะซื้อยกแผง 30 ฟอง ก็ซื้อเพียง 10 ฟอง แค่พอกิน คนปรับพฤติกรรมตามกำลังซื้อ โอกาสในการขายก็ลดลงไปอีก…เกษตรกรต้องแบกรับภาระสต๊อกและความเสี่ยงไว้
ด้านผู้เลี้ยงไก่ไข่ หนักที่สุดคือปี 2565 แบกภาระต้นทุนวัตุดิบอาหารสัตว์จนหลังแอ่นเพราะราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด 30% จากพิษของสงครามรัสเซีย-ยูเครน อย่างที่เราท่านทราบว่าทั้ง 2 ประเทศ เป็นผู้ส่งออกธัญพืชและวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงยังต้องเสริมเกราะป้องกันโรคระบาดสัตว์เพิ่มเติมอีก 20-30% เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีของผู้บริโภค ราคาไข่คละหน้าฟาร์มปัจจุบันอยู่ที่ 3.60 บาท/ฟอง ขณะที่ต้นทุนผลิตอยู่ใกล้เคียงราคาหน้าฟาร์ม รัฐบาล ควรถอดบทเรียนครั้งนี้ นำปัจจัยต่างๆ ไปปรับปรุงและพัฒนาภาคการเกษตรและภาคปศุสัตว์ของไทย ให้การผลิตมีเพียงพอกับความต้องการ สำคัญคือ ราคาควรตามกลไกตลาด เพราะเสถียรภาพราคาเป็นแรงจูงใจสำคัญของเกษตรกร เป็นความหวัง โอกาส และอนาคตของพวกเขา แทนที่จะนำมาตรการควบคุมและตรึงราคาจนเกษตรกรหน้าหมองมาใช้ ปกป้องคนกลุ่มหนึ่ง แล้วทำให้คนอีกหลายกลุ่มในห่วงโซ่การผลิตเดือดร้อน “กลไกตลาด” ใช้อย่างถูกต้องก็จะสร้างความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน ด้านอาหารของประเทศที่ไม่ควรถูกละเลย
หากรัฐบาล พิจารณาวิกฤตครั้งนี้สร้างเป็นโอกาส ปรับโครงสร้างวางรากฐานภาคปศุสัตว์ของไทยใหม่ กำหนดเป้าหมายสำคัญคือ “เสถียรภาพราคา” เป็นสำคัญ ให้เกษตรกรเห็นโอกาสสดใสที่ปลายอุโมงค์ เมื่อนั้นไทยจะบรรลุเป้าหมาย “ครัวของโลก” อย่างแท้จริง
โดย : อัปสร พรสวรรค์