สัตวแพทย์ จุฬาฯ เตือนผู้บริโภค ฉลองเทศกาลปีใหม่ด้วยเมนูหมู ต้องปรุงสุกเท่านั้น ช่วยลดเสี่ยงโรคไข้หูดับ ย้ำ! ควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากผู้ผลิตและแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ สังเกตสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และภาพลักษณ์องค์กร คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคไข้หูดับในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 23 พฤศจิกายน 2565 พบผู้ป่วยโรคหูดับ จำนวน 349 ราย และมีผู้เสียชีวิต 6 ราย จึงมีคำแนะนำแก่ผู้บริโภคในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่ต้องใส่ใจกับการบริโภคอาหารที่สะอาด ปลอดภัย เลือกเนื้อหมูบริโภคจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ ย้ำว่าต้องปรุงสุกทุกครั้งเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากไข้หูดับ
“ไข้หูดับ เป็นโรคที่ไม่ได้น่ากลัวจนถึงกับต้องตระหนก แต่พึงตระหนักรู้ถึงการป้องกันตนเองจากเชื้อโรคนี้เท่านั้น โดยอุบัติการณ์การเกิดโรคที่พบตามสื่อนั้น ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อที่เกิดจาก “การบริโภค” เนื้อหมูดิบหรือเลือดหมูที่ไม่ผ่านความร้อนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผู้บริโภคสามารถป้องกันการติดเชื้อโรคไข้หูดับได้ง่ายที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อหมูหรือเลือดหมูแบบดิบๆ รวมถึงแบบกึ่งดิบกึ่งสุก ทั้งลาบหมูดิบ ก้อยหมูดิบ ซอยจุ๊หมูดิบ รวมถึงซูชิหมูดิบ เนื่องจากเชื้อโรคไข้หูดับ “ไม่ทนต่อความร้อน” ดังนั้น “การปรุงให้สุก” ด้วยอุณหภูมิ 70-80 องศาเซลเซียส จะช่วยทำลายเชื้อไข้หูดับได้” ผศ.น.สพ.ดร.ทิลดิสร์ กล่าว
นอกจากนี้ต้องระมัดระวังการปนเปื้อนระหว่างเนื้อหมูดิบและสุก โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาหารสำหรับวัตถุดิบและอาหารที่ผ่านความร้อนแล้ว เช่น มีด เขียง จาน ช้อน ฯลฯ ส่วนการรับประทานหมูกระทะ หรือการปิ้งย่าง ควรแยกอุปกรณ์ในการคีบ โดยให้มีตะเกียบที่ใช้คีบเนื้อหมูดิบ 1 ชุด และตะเกียบที่ใช้ในการรับประทานเนื้อหมูที่สุกแล้วอีก 1 ชุด ในส่วนของผู้ปรุงอาหาร ควรสวมถุงมือขณะเตรียมเนื้อหมูสด ยิ่งในกรณีผู้ที่มีบาดแผลที่มือ และต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสเนื้อหมูดิบ ที่สำคัญต้องเลือกซื้อเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์เนื้อหมูจากฟาร์มหรือแหล่งที่ได้มาตรฐานและมีสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ขอย้ำให้ประชาชนปรุงเนื้อหมูให้สุก เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยและปลอดโรค
ทั้งนี้ โรคไข้หูดับ คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่า Streptococcus suis โดยสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ นั่นคือ ซีโรไทป์ 2 ซึ่งจัดเป็น “โรคสัตว์สู่คน” (zoonosis) เกิดจาก “การสัมผัส” กับหมูที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อยู่ ซึ่งเชื้อสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผลที่ผิวหนัง และเยื่อบุต่างๆ ดังนั้น ไม่เพียงแต่ผู้ปรุงอาหารจากเนื้อหมูและพ่อค้าแม่ค้าเขียงหมูเท่านั้น ยังรวมไปถึงผู้ที่ต้องทำงานคลุกคลี หรือสัมผัสกับตัวหมูโดยตรงในฟาร์มและโรงเชือด อาทิ สัตวแพทย์ สัตวบาล ผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงเชือด โดยบุคลากรเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะรับเชื้อชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายได้ ซึ่งอาการของโรคจะเริ่มจากระดับไม่รุนแรง ตั้งแต่มีไข้และปวดเมื่อยร่างกายร่วมด้วย ไปจนถึงมีอาการของสมองอักเสบ คอแข็ง เลือดออกใต้ผิวหนัง หูหนวก จนเกิดภาวะหูดับถาวร ซึ่งหากมีภาวการณ์ติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรงด้วยอาจทำให้ชักและเสียชีวิตได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และภาพลักษณ์องค์กร คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย