Sunday, 24 November 2024 - 12 : 58 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

ปลดล็อคผลิตสุราพื้นบ้าน สร้างงาน สร้างรายได้ชุมชน คุมเข้มคุณภาพ ดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม

กระทรวงการคลัง เดินหน้าออกกฎกระทรวงการผลิตสุราฯ ปลดล็อคเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็ก สามารถแข่งขัน ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม เน้นย้ำ ต้องควบคุมคุณภาพ ดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุราพ.ศ. 2560 พร้อมเปิดโอกาสให้การผลิตสุราสามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็ก ปลดล็อคทั้งในเรื่องทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิตขั้นต่ำ ยกระดับสุราชุมชนจากขนาดเล็กไปสู่ขนาดกลาง ช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เปิดโอกาสธุรกิจให้เติบโต ขยายกิจการได้ รวมถึงเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการนำสินค้าเกษตรมาแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สำคัญ กรมสรรพสามิต ยังให้ความสำคัญและคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัย สาธารณสุข สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงมีกรอบการปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและผลกระทบตามมา

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงการผลิตสุราฯ คือ

  1. เปิดโอกาสให้สุราชุมชนขนาดเล็ก จากที่ต้องใช้เครื่องจักรในการผลิตต่ำกว่า 5 แรงม้า และใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน ให้สามารถขยายกำลังการผลิตเป็นระดับกลาง ที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตสูงกว่า 5 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า และสามารถใช้คนงานมากกว่า 7 คนได้ แต่ต้องไม่เกิน 50 คน

ผู้ผลิตสุราชุมชน ที่จะขยายกำลังการผลิตจากระดับเล็กเป็นระดับกลาง ต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราแช่ หรือสุรากลั่นชุมชนขนาดเล็กมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และไม่เคยกระทำความผิดตามกฎหมายภาษีสรรพสามิต หรือเคยกระทำความผิดและพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี รวมทั้งต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

  1. ยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำและทุนจดทะเบียนสำหรับทั้งกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) และโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ ซึ่งเดิมนั้น ในกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) จะต้องมีขนาดการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรต่อปีและไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี และกรณีโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ต้องมีขนาดการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี สำหรับทุนจดทะเบียนนั้น ต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท

กรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) ต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

  1. เปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาที่มีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และนิติบุคคลสามารถขอใบอนุญาตผลิตสุราที่มิใช่เพื่อขาย แลกเปลี่ยน หรือดำเนินการอื่นใดโดยได้รับประโยชน์ตอบแทน และต้องมีปริมาณการผลิตสุราไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี

สถานที่ผลิตสุรา ต้องมีพื้นที่เพียงพอที่จะผลิตสุราโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย เหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น และมิใช่สถานที่ผลิตสุราของผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุรารายอื่น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของการบริโภคสุราและมิติของสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า การเสนอร่างกฎกระทรวงการผลิตสุราฯ เป็นการเปิดโอกาสให้รายเล็กเติบโตได้โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุนและกำลังการผลิต ส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดเล็กให้สามารถขยายกำลังการผลิต เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมสินค้าเกษตรให้สามารถนำมาแปรรูปได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น และยังช่วยรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น

ขณะเดียวกัน กรมสรรพสามิต ให้ความสำคัญเรื่องมาตรการการควบคุมด้านคุณภาพ ด้านสาธารณสุข และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากไม่มีการควบคุมและมีสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานออกมาสู่ผู้บริโภค อาจทำให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภคได้

นอกจากนี้ การผลิตสุราก่อให้เกิดของเสียจากกระบวนการผลิต อาทิ การกำจัดกากขยะและน้ำเสีย ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การให้ความสำคัญในเรื่องของสถานที่ตั้งและการควบคุมกระบวนการผลิต ความสะอาด และสุขอนามัย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้เป็นไปตามกฎระเบียบตามที่กำหนด เพื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการรักษามาตรฐานความปลอดภัยที่กรมสรรพสามิตกำหนดขึ้นมานั้น เป็นไปตามที่ถือปฏิบัติเป็นสากล และเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในเวลานี้

© 2021 thairemark.com