Friday, 22 November 2024 - 10 : 31 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

‘อาคม’รมว.คลังเผยเอเปกห่วงเศรษฐกิจโลกถดถอยหนี้สาธารณะท่วมโลก แนะเร่งปฏิรูปโครงสร้างภาษี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปก ครั้งที่ 29 ได้มีการประเมินภาวะเศรษฐกิจ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะขยายตัวที่ 3.2% และปีหน้าที่ระดับ 2.7%, ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์), องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD), ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกลุ่มประเทศเอเปก ล้วนต่างเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะเกิดภาวะชะลอตัว แต่ไม่ได้เป็นทุกประเทศ บางประเทศยังมีแนวโน้มเติบโตได้สูงกว่าปี 2565 โดยภาพรวมเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคขยายตัวแตกต่างกัน

นายอาคม กล่าว สำหรับประเทศไทยจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยปีนี้จนถึงปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 3-3.5% และปี 2566 ที่ระดับ 3.7% มีความเป็นไปได้

ขณะเดียวกันยังมีการหารือกับผู้นำประเทศญี่ปุ่นและฮ่องกง ซึ่งมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลง เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันยังต้องรอดูความชัดเจนจากจีน ที่ยังขอเวลาเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งไทยก็อยากเห็นนักท่องเที่ยวจากจีน ขณะที่จีนก็ต้องการให้นักท่องเที่ยวไทยเข้าไปเช่นกัน

นายอาคม กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้ให้ความเป็นห่วงใน 2 ประเด็น คือ 1. อัตราเงินเฟ้อโลกที่เพิ่มสูงขึ้น จากราคาพลังงานและอาหาร และ 2. ในช่วงการระบาดของโควิด-19 หลายประเทศได้มีการกู้ยืมเงินเป็นจำนวนมาก เพื่อดูแลประชาชนและภาคธุรกิจ ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งไม่ใช่แค่ไทยประเทศเดียวที่หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 แต่การเพิ่มขึ้นของหนี้ดังกล่าวของไทยก็ไม่ได้อยู่ในระดับสูงที่สุด ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินก็ต้องทำหน้าที่ ส่วนนโยบายการคลังก็ต้องทำงานแบบตรงกลุ่ม ตรงเป้าหมายและเจาะจงมากขึ้น

“ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคให้ความสำคัญกับสถานการณ์หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 ซึ่งหลังจากหมดการแพร่ระบาดแล้ว จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันและการจัดเก็บภาษี ซึ่งมองว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาครัฐให้ลดลง เพราะรัฐบาลมีภาระมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการลงทุนต่างๆ มากขึ้น” นายอาคม กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการหารือกันเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยแหล่งเงินทุนส่วนใหญ่มาจากสถาบันการเงินด้วยการกู้ยืม แต่ก็ยังมีทางเลือกอื่นในการระดมทุนอีกมากมาย ที่มีการพูดถึงค่อนข้างเยอะ ได้แก่ การออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ซึ่งถือเป็นการระดมทุนรูปแบบหนึ่งที่มีการดำเนินการในช่วง 2-3 ปี โดยทุกประเทศอยากเห็นการระดมทุนลักษณะดังกล่าวเพื่อลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

© 2021 thairemark.com