เมื่อเวลา 9.30 น.วันที่ 28 เม.ย.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ ตำบลบ้านฉาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานพิธีเปิดงานสืบสานประเพณีจุด “ลูกหนู” หรือ “จรวดมอญ”ประเพณีของชาวมอญ ที่มีมานานกว่า200 ปี โดยมีนายชัยวัฒน์ อินทร์เลิศ. ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี นายยุทธนา แสงพงศานนท์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ข้าราชการ ประชาชน และวัดต่างๆในจังหวัดปทุมธานี ส่งลูกหนู เขาร่วมงาน สืบสานประเพณีจุด “ลูกหนู”ในครั้งนี้กันเป็นจำนวนมาก
สำหรับงานประเพณีจุดลูกหนูนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และปีนี้มีกิจกรรมประกอบด้วย ขบวนแห่ลูกหนูรอบเมือง ประวัติความเป็นมาของประเพณีจุดลูกหนูปทุมธานี เนื่องจากชนชาวมอญได้เดินทางเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พร้อมกับนำเอาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ รวมทั้งการละเล่นพื้นบ้านเข้ามาเผยแพร่ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานี มาจนถึงทุกวันนี้
พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี องค์กรภาครัฐ เอกชน และสถานศึกษา มีความเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรต้องมีการอนุรักษ์สืบสานประเพณีอันดีงามนี้ ให้อยู่คู่กับจังหวัดปทุมธานีสืบต่อไป ประกอบกับคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดก ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานีได้มีมติเสนอให้ประเพณีจุดลูกหนู ซึ่งถือได้ว่าเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานีได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดก ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ จึงได้ร่วมกันดำเนินการจัดงานสืบสานประเพณีจุดลูกหนูขึ้น ซึ่งในปีนี้ นับว่าเป็นปีที่ 16 ของการจัดงาน
ประเพณีจุด “ลูกหนู”เป็นการละเล่นโบราณอีกอย่างหนึ่งที่หาดูได้ยากในทุกวันนี้คือ การจุดลูกหนู ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานของชนชาวไทยรามัญ แต่เดิมนั้นการจุดลูกหนูเพื่อเป็นการเคารพบูชา สักการะพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่เชื้อสายรามัญที่มรณภาพลง แต่กาลต่อมาประเพณีการจุดลูกหนูก็ได้พัฒนามาเป็นการละเล่นที่สนุกสนาน มีการประชันแข่งขันกัน ทั้งนี้ คณะต่างๆ ที่จัดทำลูกหนูขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่แล้วจะมาจากวัดวาอารามต่างๆ เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีชาวบ้านที่ศรัทธาให้การสนับสนุน ปัจจุบันนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบต. เทศบาล อบจ. จัดสรรงบประมาณสนับสนุนเพื่อให้ประเพณีที่ดีงามเหล่านี้อยู่คู่กับท้องถิ่นตลอดไป โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
ในการจัดงานจุดลูกหนูในวันนี้ มีคณะลูกหนูจากวัดต่าง ๆ ได้เข้าร่วม จำนวน 24 สาย โดยแบ่งออกเป็น สาย A จำนวน 12 สาย และ สาย B จำนวน 12 สายโดย “ลูกหนู” นั้น ทำมาจากไม้ท่อนๆ แล้วนำมากว้านให้เป็นโพรงตามแนวยาว นำดินปืนอัดลงไปในโพรงให้แน่นอุดหัวท้ายด้วยดินเหนียวและเจาะรูตรงกลางเพื่อต่อสายชนวน แล้วก็นำไปติดไว้บนลวดสลิง ลูกหนูจะวิ่งไปตามลวดสลิงไปชนกับเขื่อนกั้น เพื่อให้ตัวลูกหนูวิ่งชนกับปราสาท หรือ แผ่นป้ายต่างๆ ที่ติดไว้ ก็จะได้รับเงินรางวัล ส่วนทีมไหนสามารถทำให้ยอดปราสาทตกลงพื้นได้ จะเป็นผู้ชนะ