Wednesday, 1 May 2024 - 11 : 33 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

เอกชนพร้อมควักเงินซื้อวัคซีนต้านโควิดกระจายฉีดช่วยรัฐบาลหวังเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ส.อ.ท.เร่งรัฐรับรองมาตรฐานวัคซีนโควิด–19 เผยเอกชนพร้อมจ่ายค่าวัคซีนเองเพื่อให้กระจายเร็วขึ้น หนุนเศรษฐกิจฟื้น ชี้โควิดระลอก 2 ทำใช้จ่ายทรุด หนุนรัฐฟื้นชีพช้อปดีมีคืนเพิ่มลดภาษีเป็น 50,000 บาท กระตุ้นคนใช้จ่าย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้รวบรวมข้อเสนอของผู้ประกอบการที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ขอให้เร่งรัดการจัดซื้อและการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ตามกำหนดเวลาและปริมาณที่พอเพียง โดยเห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรเร่งรับรองมาตรฐานวัคซีนโควิด-19 เพราะหลายๆประเทศทั่วโลกได้เปิดให้มีการนำเข้าวัคซีนโดยเสรีเพื่อเปิดให้เอกชนจัดหาโดยตรง ซึ่งในส่วนของไทย กกร.ก็เห็นว่าภาคเอกชนพร้อมที่จะจ่ายเงินค่าวัคซีนเองเพื่อให้กระจายได้เร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าและสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ

นายสุพันธุ์ กล่าวอีกว่า ส.อ.ท.ยังต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในทิศทางเดียวกับประเทศในอาเซียน ขอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะมาตรการเสริมสภาพคล่อง จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) อย่างเป็นรูปธรรม เพราะขณะนี้มีการปล่อยเงินกู้ซอฟต์โลนเพียง 122,000 ล้านบาทจากวงเงิน 500,000 ล้านบาท และขอให้นำโครงการช้อปดีมีคืนกลับมาใช้ในปี 2564 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี โดยคืนภาษีจากเดิมสูงสุด 30,000 บาทเป็น 50,000 บาท เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2564

ทั้งนี้ยังได้รายงานผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาด้วยว่า ค่าดัชนีฯอยู่ที่ระดับ 83.5 ลดลงจาก 85.8 เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.2563 ซึ่งนับเป็นค่าดัชนีฯที่ปรับลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 6 เดือนนับตั้งแต่ ส.ค.2563 โดยมีปัจจัยลบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นับตั้งแต่ ธ.ค.ที่ผ่านมาที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าระลอกแรก รวมทั้งการส่งออกยังประสบปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง

ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.เปิดเผยถึงสถานการณ์รถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตในเดือน ม.ค.ว่า มีทั้งสิ้น 148,118 คัน ลดลงจากเดือน ม.ค.2563 ประมาณ 5.21% โดยการผลิตเพื่อส่งออก 85,797 คัน เพิ่มขึ้น 0.77% ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 62,321 คัน ลดลง 12.38% ซึ่งปัจจัยหลักคือการระบาดของโควิด-19 ระลอกสองที่ทำให้ประชาชนกังวลว่าจะนำไปสู่การล็อกดาวน์และกังวลต่อรายได้ในอนาคต ทำให้ชะลอการใช้จ่าย ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ เดือน ม.ค.มีจำนวน 55,208 คัน ลดลงจาก ธ.ค.2563 สูงถึง 46.96%.

© 2021 thairemark.com